โดย นายธนวัฒน์ บุญประดิษฐ์
รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วน
สถาบันยานยนต์
ในปัจจุบันแนวโน้มการพัฒนาของเทคโนโลยียานยนต์โลกและการผลิตนั้นจะมีทิศทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยในแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปี พ.ศ. 2555-2559 ได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งได้มีวิสัยทัศน์ในด้านการผลิตยานยนต์สีเขียวและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมดังนี้ “ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ของโลกด้วยห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ที่สร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” รวมถึงแนวโน้มกฏหมายข้อบังคับสำหรับยานยนต์ด้านสิ่งแวดล้อมในโลกรวมถึงประเทศไทยก็มีแนวโน้มที่เข้มงวดขึ้นด้วย โดยถ้าผู้ประกอบการผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยไม่ปรับตัวหรือปรับตัวไม่ทันต่อแนวโน้มก็อาจจะทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในอนาคต โดยผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างแนวโน้มเทคโนโลยีและการผลิต เพื่อเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องตระหนักและพร้อมปรับตัวดังนี้
1. การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อม
แนวโน้มในอุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มว่าจะมีมาตรการด้านกฏหมาย ข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมให้เข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น
• มาตรฐาน ELVs (End of Life Vehicles) ซึ่งเป็นมาตรการบังคับใช้ในกลุ่มประเทศยุโรป
โดยภาพรวมแล้วระเบียบ ELVs ส่งผลต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องปรับกระบวนการผลิตให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่สามารถ Recycle, Reuse และ Recovery โดยมีเป้าหมายดังนี้
(1) สัดส่วนการใช้ซ้ำ/การดึงทรัพยากรกลับ (Reuse and Recoverable) ไม่ต่ำกว่า 85% โดยน้ำหนัก และการใช้ซ้ำ/การรีไซเคิล (Reuse and Recyclable) ไม่ต่ำกว่า 80% โดยน้ำหนัก ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2549
(2) สัดส่วนการใช้ซ้ำ/การดึงทรัพยากรกลับ (Reuse and Recoverable) ไม่ต่ำกว่า 95% โดยน้ำหนัก และการใช้ซ้ำ/การรีไซเคิล (Reuse and Recyclable) ไม่ต่ำกว่า 85% โดยน้ำหนัก ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558
ทั้งนี้มาตรฐาน ELVs ยังมีการระบุว่าการห้ามใช้โลหะหนัก 4 ชนิด: ยานยนต์และอะไหล่สำหรับยานยนต์ที่นำเข้าตลาดหลัง 1 กรกฎาคม 2546 ต้องปราศจากตะกั่ว (Pb) ปรอท (Hg) แคดเมียม (Cd) และ โครเมียมเฮกซะวาเลนซ์ (Cr-VI) ไม่ว่าจะอยู่ในรูปใด ยกเว้นการใช้งานเฉพาะบางอย่างที่ระบุให้เป็นข้อยกเว้น
โดยมาตรฐานนี้จะมีการบังคับกับยานยนต์ที่ส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป โดยบังคับผ่านบริษัทผลิตรถยนต์โดยผู้ผลิตยานยนต์ก็จะมีการระบุเป็นข้อกำหนดของบริษัทตัวเอง เพื่อให้บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ปฏิบัติตามอีกทอดหนึ่งซึ่งผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนก็จะต้องมีการปรับกระบวนการผลิตให้เข้ากับมาตรการดังกล่าว
• มาตรฐานไอเสียรถยนต์ Emission
แนวโน้มมาตรฐานไอเสียยานยนต์โลกนั้น มีแนวโน้มจะมีความเข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีแนวโน้มในการปรับใช้มาตรฐานของกลุ่มสหภาพยุโรปมาบังคับใช้ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย โดยประเทศไทยถือว่าเป็นผู้นำในการผลิตรถยนต์ที่มีมาตรฐานที่เข้มงวดที่สุดประเทศหนึ่งในกลุ่มอาเซียน
ตารางเปรียบเทียบการบังคับใช้มาตรฐาน Euro ในกลุ่ม ASEAN ในกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็ก
ซึ่งแนวโน้มการบังคับใช้มาตรฐาน Emission ที่เข้มงวดนี้ก็จะมีผลต่อการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่จะต้องผลิตชิ้นส่วนให้มีคุณสมบัติสอดรับกับมาตรฐานใหม่ๆ อาทิ ชิ้นส่วนระบบการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงก็จะต้องสามารถทนต่อแรงดันในการฉีดได้มากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้วัตถุดิบและเทคโนโลยีการผลิตเปลี่ยนไปและผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ก็จะต้องปรับกระบวนการผลิตให้สอดรับกับเทคโนโลยีใหม่ข้างต้น
• การพัฒนาการด้านมาตรฐานความปลอดภัย
รูปแสดงมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง
แนวโน้มในประเทศไทยและอาเซียนจะนำมาตรฐานความปลอดภัยมาบังคับใช้มากขึ้นโดยนำมาตรฐานยุโรปมาใช้ ยกตัวอย่างมาตรฐานที่ประเทศไทยได้นำมาใช้บ้างแล้วเช่น มาตรฐานเข็มขัดนิรภัย ตาม UN ECE R 16 และมาตรฐานกระจกนิรภัยตาม UN ECE R 43
• นโยบายรถยนต์ประหยัดพลังงาน มาตรฐานสากล (ECO CAR 2) ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการใช้รถประหยัดพลังงาน ปลอดภัยและนโยบายส่งเสริมการลงทุนในประเทศโดยส่งเสริมให้มีการผลิตรถ ECO CAR 2 โดยมีหลักเกณฑ์อาทิเช่น การประหยัดเชื้อเพลิงไม่เกิน 4.3 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร, มาตรฐานมลพิษ Euro 5, ปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากท่อไอเสียไม่เกิน 100 กรัม/1 กิโลเมตร และการป้องกันผู้โดยสารจากการชนด้านหน้า-ด้านข้างของตัวรถ มีระบบห้ามล้อแบบ ABS และระบบควบคุมรถแบบ ESC โดยผู้ประกอบการชิ้นส่วนจะต้องมีการปรับตัวในเรื่องการผลิตชิ้นส่วนที่จะต้องมีข้อกำหนดด้านความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้น
• นโยบายทางด้านภาษีสรรพสามิตรที่คำนึงถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก CO2 มากขึ้น โดยภาษีสรรพสามิตรใหม่นี้มีแผนจะนำมาบังคับในปี 2016
ตารางโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ในอุตสาหกรรมยานยนต์
โดยในแผนดังกล่าวยังได้ให้ความสำคัญต่อการใช้เอทานอลในสัดส่วนที่สูงขึ้น รวมถึงเทคโนโลยียานยนต์ใหม่อาทิ รถ Hybrid Electric Vehicles ที่ใช้พลังงานจากน้ำมันและไฟฟ้าผสานกันด้วย
• การพัฒนาการของมาตรฐานระบบคุณภาพและสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนอาทิ ISO 14001 คือ มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental management System) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14000 ที่ใช้เป็นแนวทางให้องค์กรหรือหน่วยงานสามารถจัดระบบการจัดการของตน เพื่อให้บรรลุนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ ดังนั้นระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมจึงเป็นระบบที่มีโครงสร้างหน้าที่ ความรับผิดชอบที่ชัดเจน และการ ทบทวน (Action) มาตรฐาน ISO 50003 ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน
โดยนอกจากที่กล่าวมาเบื้องต้นแล้วก็ยังมีมาตรการที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักเกณฑ์ฉลากเขียว และการจัดซื้อผลิตภัณฑ์สีเขียวจากภาครัฐ ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการยานยนต์และชิ้นส่วนจะต้องเปลี่ยนเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เกี่ยวข้อง
2. การปรับกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเทคโนโลยียานยนต์ที่มีแนวโน้มเป็นสีเขียว การปรับกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเทคโนโลยียานยนต์ให้มีแนวโน้มเป็นสีเขียวนั้นมีความสำคัญมาก เพราะถ้าผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทันก็จะทำให้ผลิตสินค้าไม่เป็นที่ต้องการของตลาดหรือลูกค้าและก็ทำให้ขายสินค้าไม่ได้ โดยขอยกตัวอย่างของการพัฒนาการด้านยานยนต์สีเขียว ดังนี้
• การพัฒนายานยนต์ให้มีน้ำหนักเบาขึ้น
ทำให้มีแนวโน้มในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เบาขึ้นและมีคุณสมบัติที่ดีขึ้นหรืออย่างน้อยก็ต้องมีคุณสมบัติในการใช้งานเหมือนเดิมโดยอาจมีการใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนหรือวัสดุเดิมแต่บางลง ขณะเดียวกันก็ต้องมีการปรับคุณสมบัติให้ดีขึ้น ซึ่งที่กล่าวมานำไปสู่กระบวนการผลิตที่เปลี่ยนไปและผู้ประกอบการก็จะต้องตามให้ทัน เช่น การผลิตเหล็ก High Tensile Strength, การผลิตวัสดุ Polymer และ Composite เป็นต้น รวมถึงการผลิตชิ้นส่วน นาโนเทคโนโลยีด้วย
• การพัฒนายานยนต์ที่นำไปสู่การใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น เช่น ยานยนต์ Hybrid Electric Vehicles, Plug in Hybrid Electric Vehicles ตลอดจนรถไฟฟ้า Electric Vehicle ตลอดจนพัฒนาการใช้ระบบควบคุมทางไฟฟ้า รวมถึงเซ็นต์เซอร์ต่างๆ มากขึ้น
การพัฒนาการยานยนต์ที่นำไปสู่การใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นนี้ทำให้ชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่เปลี่ยนไปด้วย
• การนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในการผลิตมากขึ้น
ปัจจุบันปัญหาอย่างหนึ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยคือปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยปัจจุบันมีการใช้แรงงานนำเข้าอยู่พอสมควรทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่งขณะที่เป้าหมายการผลิตยานยนต์ในประเทศที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2560 คือ 3,000,000 คัน ซึ่งทำให้ต้องนำระบบอัตโนมัติมาปรับใช้มากขึ้น ส่งผลให้กระบวนการผลิตในอนาคตเปลี่ยนรูปแบบไปพอสมควร
3. สภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สูงขึ้น
ทำให้ผู้ประกอบการยานยนต์จะต้องลดต้นทุนโดยต้องนำวิธีการในการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพมาประยุกต์ใช้มากขึ้น เช่น กระบวนการลดต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นการลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต การออกแบบให้ต้นทุนถูกลง การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและที่เกี่ยวข้องโดยใช้กระบวนการต่างๆ โดยทั้งหมดจะนำไปสู่กระบวนการผลิตที่เปลี่ยนไป ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างปัจจัย แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในด้านเทคโนโลยีและการผลิตยานยนต์ที่จะทำให้กระบวนการผลิตในอนาคตเปลี่ยนแปลงไปในเชิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ถ้าผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไม่รีบปรับตัวพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็จะทำให้สูญเสียโอกาส สูญเสียความสามารถในการแข่งขันได้ โดยในประเทศ ASEAN คู่แข่งคนสำคัญของเราก็คือประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรประมาณ 240 ล้านคน และอินโดนีเซียมีเป้าหมายในการจะขึ้นเป็นที่ 1 ในอาเซียนเช่นเดียวกัน ถ้าเราขยับตัวเร็วโดยมีการพัฒนาผู้ประกอบการ พัฒนาบุคลากร และกระบวนการผลิตที่แข็งแกร่งตามแนวโน้มเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการพัฒนาความแข็งแกร่งของ Supply Chain ซึ่งรวมถึงการบูรณการความร่วมมือกับประเทศ CLMV และนโยบายทางด้านภาษีที่เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งมีจำนวนประชากรรวมทั้งหมดไม่น้อยไปกว่าอินโดนีเซียก็จะทำให้ประเทศไทยรักษาความเป็นผู้นำในด้านการผลิตยานยนต์ในอาเซียนภายใต้นโยบายการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างแน่นอน และท้ายที่สุดแล้วอุตสาหกรรรมยานยนต์ในประเทศไทย ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดภาวะโลกร้อนและรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยสถาบันยานยนต์พร้อมที่จะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองหลักที่จะช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้ก้าวต่อไป