รถจีน6ยี่ห้อถล่มไทย ปลุกตลาด EV กดดันค่ายญี่ปุ่น

แบรนด์รถยนต์น้องใหม่ "ฉางอัน-จีลี่-เจเอซี" ตบเท้าถล่มทั้งเก๋งและเอสยูวี หลัง "บีโอไอ" กางแผนเปิดลงทุนใหม่กดดันค่ายญี่ปุ่น ระบุทั้ง "เอ็มจี-เกรทวอลล์-BYD" สร้างแรงกระเพื่อม ในตลาด เปิดแฟลกชิปโชว์รูมกลางกรุง ลุ้นนโยบาย "สถานีชาร์จ-ภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่" ชัดเจน มีอีกหลายค่ายทยอยลงทุน มั่นใจสปีดรถยนต์ไฟฟ้าเข้าตามเป้าแผนยุทธศาสตร์บอร์ดอีวี ปี 2570 ผลิตต่อปีทะลุ 1.5 ล้านคัน
         
"เอ็มจี-เกรท วอลล์ฯ" มาแรง
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานความคึกคักของการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ หลังจากค่ายรถจากจีนแบรนด์ "เอ็มจี" โดยบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ (SAIC Motor) หรือเซี่ยงไฮ้ ออโต โมทีฟ อินดัสตรี คอร์ปอเรชั่น จับมือกับกลุ่ม ซี.พี. เข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์และทำตลาดในประเทศไทย ซึ่งสามารถสร้างแบรนด์จนติดตลาดและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว 5 ปี กวาดยอดขายไปแล้วกว่า 50,000 คัน และกำลังจะบรรลุเป้าหมาย 100,000 คัน ในเร็ว ๆ นี้ ตามมาด้วยค่ายเกรท วอลล์ฯ ซึ่งประกาศแผนลงทุนเมื่อปีที่แล้วจากการเทกโอเวอร์โรงงานจีเอ็มและเชฟโรเลตที่จังหวัดระยอง และเปิดตัว รถยนต์เอสยูวีรุ่นแรก ภายใต้แบรนด์ ฮาวาล เอช 6 ไฮบริด ในงานมอเตอร์โชว์ เมื่อเดือนมีนาคม 2564 พร้อมเปิด แฟล็กชิปสโตร์กลางกรุง 4 แห่ง ส่งผลให้ค่ายรถจีนอีกหลายยี่ห้อทยอยตบเท้าเข้ามาลงทุนในบ้านเรา
         
ฉางอัน-จีลี่-เจเอซี ดาหน้าลงทุน
นายชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เร็ว ๆ นี้จะมีค่ายรถยนต์อีกหลายยี่ห้อพร้อมเข้ามาลงทุนทำตลาดในไทย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลชุดนี้ และเป็นหน้าที่ ของบีโอไอที่ต้องการดึงนักลงทุนจากต่างชาติโดยเฉพาะค่ายรถยนต์จากจีนเข้ามาลงทุนเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้มากขึ้น เป็นการสร้างความต้องการของตลาดให้แพร่หลายมากขึ้น
         
โดยขณะนี้มีค่ายรถยนต์จีนอีกหลายยี่ห้อติดต่อขอข้อมูล สำหรับเตรียมความพร้อมเพื่อเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างน้อย 3-4 ราย หนึ่งในนั้นมีแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง "ฉางอัน ออโตโมบิล" ที่ก่อนหน้านี้ได้มีการเข้ามาเจรจารายละเอียด และการหารือ ร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมย่านปราจีนบุรีด้วย อีกค่ายคือ กลุ่มจีลี่ ได้ติดต่อสำนักงาน ของบีโอไอในต่างประเทศว่า มีความสนใจเข้ามาลงทุนในลักษณะของการร่วมทุนในประเทศไทยเช่นเดียวกัน
         
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ฉางอัน ออโตโมบิล (Changan Automobile) มีโรงงานผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์อยู่มากถึง 13 แห่ง เพื่อจัดจำหน่ายทั่วทั้งประเทศจีน, บราซิล, รัสเซีย, ไนจีเรีย และมาเลเซีย กำลังการผลิตรวมทั้งหมดของโรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้สามารถผลิตรถยนต์ได้ถึง 2 ล้านคันต่อปี

แหล่งข่าวตัวแทนจำหน่ายรถยนต์รายใหญ่กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ช่วงปี 2563 ที่ผ่านมาได้รับการทาบทามจากผู้บริหารค่ายฉางอัน เพื่อร่วมดำเนินธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายรถจีนแบรนด์ฉางอันในประเทศไทย โดย มีการเชิญผู้ประกอบการดีลเลอร์ชาวไทยไปร่วมรับฟังแผนธุรกิจและแผนงาน ต่าง ๆ มาแล้ว และฉางอัน ออโตโมบิล ยังได้เตรียมประกาศรับสมัครพนักงาน ในประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการ ไปบ้างแล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์ โควิดอาจจะทำให้แผนงานต่าง ๆ ล่าช้าออกไป
         
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ส่วนจีลี่ ออโตโมบิล เดิมเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ประดับยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ และเริ่มประกอบรถยนต์จำหน่ายตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 และผลิตเป็นสินค้าส่งออกตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 ปัจจุบันจีลี่เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ ที่สุดของประเทศจีน และได้ซื้อกิจการรถยนต์วอลโว่ จากฟอร์ดมอเตอร์ ล่าสุดจีลี่ได้เทกโอเวอร์แบรนด์โปรตอน ของมาเลเซีย และคาดว่าน่าจะใช้แบรนด์โปรตอนบุกทำตลาดในประเทศไทย อีกครั้ง
         
เช่นเดียวกับ เจเอซี มอเตอร์ส (JAC Motors) ซึ่งถือเป็นอีกแบรนด์ใหญ่ในจีน มีกำลังการผลิตรถยนต์ 700,000 คัน และเครื่องยนต์ 500,000 เครื่องต่อปี รวมไปถึงอุปกรณ์อื่นที่เกี่ยวข้อง มีการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังภูมิภาคอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา และเอเชีย โดยมีการผลิตทั้งรถยนต์นั่งและรถเพื่อการพาณิชย์
         
ภาษีส่งเสริมชัด จ้องลงทุนเพียบ
รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใน 1-2 ปีข้างหน้าจะได้เห็นภาพการลงทุนจากแบรนด์จีนชัดเจนยิ่งขึ้น จริง ๆ ยังมีอีกหลายค่ายที่รอดูความชัดเจน ทั้งนโยบายสถานีชาร์จ รวมทั้งอัตราภาษีสรรพสามิตของแบตเตอรี่อีวีว่าจะจัดเก็บในอัตราเท่าใด รวมถึงเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจะให้กับคนซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างดีมานด์ให้เกิดขึ้น ซึ่งกลุ่ม ผู้ลงทุนอยากได้ข้อมูลไปเปรียบเทียบกับการนำเข้ามาจำหน่ายทั้งคันจากประเทศจีน ว่าแบบใดจะคุ้มค่ากว่า ซึ่งหากทุกอย่างชัดเจน เชื่อว่าน่าจะได้เห็นทัพการลงทุนจากจีนเข้ามาในไทยอีกเป็นจำนวนมาก
         
"บีวายดี" เบนเข็มลุยตลาดบัส
นายดิฐวัฒน์ ณรงค์รักเดช กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม แอดวานซ์ เทคโนโลยี รีเลชั่นชิป จำกัด ผู้นำเข้าและจำหน่ายรถ forklift พร้อมอุปกรณ์ประเภทแบตเตอรี่ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง บริษัทในเครือสยามกลการอุตสาหกรรม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า บริษัทได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถโฟร์กลิฟต์ ยี่ห้อบีวายดี ล่าสุดได้ขยายไลน์สินค้าภายใต้แบรนด์บีวายดี ประเภทกลุ่มรถบัสและรถบรรทุก โดยช่วงแรกเป็นการนำเข้าทั้งคัน (ซีบียู) ตอนนี้มีการนำชิ้นส่วนมาประกอบภายในประเทศ (ซีเคดี) โดยได้จับมือกับกลุ่มเชิดชัย กรุ๊ป ประกอบรถบัสขนาดกลางเพื่อจำหน่ายในประเทศไทย ภายใต้เทคโนโลยีของ บีวายดี 100% และอนาคตจะขยายไปยังกลุ่มรถยนต์นั่งด้วย
         
ก่อนหน้านี้ รถยนต์นั่งบีวายดีถูกนำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย โดยกลุ่มชาริช โฮลดิ้ง นำร่องผ่านโครงการ "รถแท็กซี่ วี.ไอ.พี." ราว 120 คัน ในประเทศไทย แต่ปัจจุบันได้ยุติการดำเนินกิจการไปแล้ว
         
เพิ่มทางเลือกผู้บริโภค
นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า มีข่าวเรื่องการเคลื่อนทัพของรถยนต์จากจีนมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะการรุกเข้าในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งบีโอไอก็มีการเปิดแพ็กเกจรอบสองรองรับ เอ็มจี ในฐานะแบรนด์จีนที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเป็นรายแรก ๆ ยินดีต้อนรับกับแบรนด์รถยนต์จากจีน ซึ่งจะมาช่วยกันปลุกตลาดความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้น แต่สุดท้ายค่ายรถยนต์ที่จะเข้ามาทำตลาดนั้นต้องพิสูจน์ตัวเอง ทั้งตัวโปรดักต์ การทำตลาด เนื่องจากตลาดในเมืองไทยมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ซึ่งลูกค้ามีทางเลือกค่อนข้างเยอะ ทั้งจากแบรนด์ญี่ปุ่นและยุโรป สำหรับเอ็มจียังยืนยันเป้าหมายใช้ประเทศไทยเป็นฮับ 3 ด้าน ได้แก่ ฮับพวงมาลัยขวา, ฮับการผลิตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้ และล่าสุดเตรียมเป็นฮับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
         
ไม่ต่างจากนายณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า การทยอยเข้ามาของแบรนด์ใหม่ ๆ จากประเทศจีนในประเทศไทย ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีของประเทศ ผู้บริโภคจะมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น พร้อมเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย รวมถึงดีไซน์ อีกทั้งยังช่วยผลักดันให้เกิดการสร้างอีโคซิสเต็มของยานยนต์ไฟฟ้าที่เต็มรูปแบบมากขึ้น เกิดการถ่ายโอน เทคโนโลยี
         
สปีดรับแผนยุทธศาสตร์บอร์ดอีวี
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า การรุกขยายตลาดของรถจีนมาในไทย นอกจากช่วยกระตุ้นดีมานด์ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราแล้ว ยังช่วยกดดันค่ายญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่ขอบัตรส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว แต่ยังไม่มีแบรนด์ไหนลงทุนอย่างจริงจัง ดังนั้นการที่รถจีนดาหน้ากันเข้ามาลงทุนทำตลาดในบ้านเรา แม้ช่วงแรกจะใช้วิธีนำเข้าจากจีนมาจำหน่ายทั้งคันก่อน แต่ก็น่าจะทำให้แผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี)
         
ที่ต้องการผลักดันเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% หรือราว ๆ 1.5 ล้านคันต่อปี ในปี 2573 แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง-กระบะ 7.25 แสนคัน รถจักรยานยนต์ 6.75 แสนคัน และรถบัส/รถบรรทุกอีก 3.4 หมื่นคัน สถานีชาร์จ 12,000 หัวจ่าย เข้าใกล้ความจริงมากยิ่งขึ้น

ที่มา: https://www.prachachat.net/motoring/news-693928