บทความ โดย แผนกวิจัยอุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์
จาก นิตยสาร Automotive Navigatior ฉบับ ก.ค. - ก.ย. 2563
1. การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ หรือ “โควิด-19”
ในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 รัฐบาลท้องถิ่นเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ยืนยันการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุ ก่อนที่จะประกาศว่าเป็นการติดเชื้อจากไวรัสชนิดใหม่ในเวลาต่อมา จนกระทั่งในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2563 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) ตีพิมพ์รายงานยืนยันการติดเชื้อนอกประเทศจีน รวมทั้งประเทศไทยที่ยืนยันผู้ติดเชื้อรายแรกในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2563 โดยห้องปฏิบัติการในประเทศจีนยืนยันผลว่าไวรัสชนิดใหม่นี้ คือ โคโรนาไวรัสสายพันธ์ใหม่ ซึ่งต่อมาได้รับชื่อว่า โควิด-19 (Covid-19) ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 จนถึงกระทั่งปัจจุบัน (13 เมษายน 2563) มีผู้ติดเชื้อไวรัส โควิด-19 แล้วจำนวน 1,856,831 ราย และมีจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 114,312 ราย ผลจากการแพร่ที่รวดเร็วของไวรัส โควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศต้องดำเนินมาตรการปิดกั้นพื้นที่เพื่อลดการเคลื่อนย้ายผู้คนและการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก เนื่องจากจะช่วยชะลอการแพร่ระบาดลง ในขณะที่ความพร้อมทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขยังมีอย่างจำกัด ผลของมาตรการปิดกั้นพื้นที่ของประเทศต่าง ๆ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลง แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่ยุติลง แต่ในเบื้องต้นมีการประเมินว่าปี พ.ศ. 2563 อัตราการเติบโตของ GDP เฉลี่ยทั่วโลกจะลดลง จากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 0.5 – 2.5 , เนื่องจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงที่สุดจำนวน 6 ประเทศ เป็นประเทศที่มี GDP สูงที่สุด 10 อันดับแรกของโลก (ตารางที่ 1)
2. สถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19
มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน เป็นพื้นที่แรกที่เริ่มมาตรการปิดกั้นพื้นที่ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม ถึง 8 เมษายน พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญแห่งหนึ่งของอุตสาหกรรมยานยนต์ประเทศจีน ในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้ผลิตรถยนต์ 9 รายต้องหยุดการผลิตชั่วคราว ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมร้อยละ 10 ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ และส่งผลต่อเนื่องทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนต้องหยุดการผลิตชั่วคราวด้วยเช่นกัน โดยชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตในพื้นที่ดังกล่าว อาทิ ระบบเบรก ระบบบังคับเลี้ยว และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ 9 รายกลับมาเปิดทำการครบแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีนจะถูกควบคุมได้แล้ว แต่ในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลก ยังต้องเผชิญกับปัญหาการระบาดอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายแห่งทั่วโลกต้องหยุดการผลิตชั่วคราว (รูปที่ 1) รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทยจำนวน 8 ราย ได้ประกาศหยุดการผลิตชั่วคราวในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 ด้วยเช่นกัน (รูปที่ 2) ซึ่งอาจส่งผลให้ปริมาณการผลิตรถยนต์ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ลดลงกว่าร้อยละ 40 และ 30 ตามลำดับ และจากการสำรวจของสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) พบว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนมีคำสั่งซื้อลดลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 30 และมีผู้ผลิตบางรายมีคำสั่งซื้อลดลงถึงร้อยละ 70
ในไตรมาสที่ 1/2563 ตลาดรถยนต์ในประเทศจีนลดลงร้อยละ 40 หรือลดลงกว่า 2.7 ล้านคัน ซึ่งนอกจากจะเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว ยังเป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนด้วย ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ตลาดรถยนต์ลดลงประมาณร้อยละ 10 – 30 เนื่องจากประเทศอื่น ๆ เริ่มได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 (รูปที่ 3)
บริษัทวิจัยด้านธุรกิจยานยนต์ IHS Markit ประเมินเบื้องต้นว่า อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 มากที่สุด คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เนื่องจากการจำกัดการเดินทาง ทำให้ความต้องการใช้งานยานยนต์ทั่วโลกลดลง รวมถึงผู้บริโภคไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ ส่งผลให้ผู้บริโภคบางส่วนมีรายได้ลดลงและต้องการเก็บเงินไว้ใช้จ่ายในส่วนที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตมากกว่าการใช้เงินเพื่อซื้อรถยนต์ ประกอบกับห่วงโซ่อุปทานการผลิตที่ตั้งอยู่ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด ทั้งจีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป ดังนั้น แม้ว่าในอนาคตตลาดยานยนต์จะฟื้นตัว (อย่างค่อยเป็นค่อยไป) แต่ในด้านการผลิต อาจไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ทันกับความต้องการของตลาด
3. ผลกระทบจากไวรัส โควิด-19 ต่อตลาดรถยนต์
บริษัทวิจัยด้านธุรกิจยานยนต์ Oliver Wyman ประเมินผลกระทบของตลาดรถยนต์จากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ไว้สองสถานการณ์ ดังนี้ สถานการณ์ที่ 1 ตลาดรถยนต์สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมาตรการจัดการการแพร่ระบาดมีประสิทธิภาพ สามารถลดความรุนแรงของการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ลง และตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มคงที่ ในขณะที่ผู้บริโภคยังคงมีกำลังซื้ออยู่ และผู้บริโภคบางส่วนต้องการรถยนต์ส่วนบุคคลไว้ใช้งาน เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางสาธารณะ โดยคาดว่าตลาดรถยนต์จะฟื้นตัวกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็วได้ในช่วงเดือนสิงหาคม และภาพรวมทั้งปี พ.ศ. 2563 ตลาดโลกจะลดลงร้อยละ 17 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือมียอดจำหน่ายประมาณ 63 ล้านคัน และ สถานการณ์ที่ 2 ตลาดรถยนต์ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงอย่างมาก โดยคาดว่าตลาดรถยนต์จะฟื้นตัวกลับมาในช่วงเดือนธันวาคม และส่งผลให้ตลาดรถยนต์ของโลกในปี พ.ศ. 2563 ลดลงร้อยละ 29 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือมียอดจำหน่ายประมาณ 54 ล้านคัน (รูปที่ 4) ทั้งนี้ Oliver Wyman ประเมินว่า อาจใช้เวลามากกว่า 3 ปี ที่ตลาดรถยนต์จะกลับมาอยู่ในสภาวะเช่นเดียวกับก่อนการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 และในบางตลาดที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดรุนแรง อย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป อาจใช้เวลาหลายปีกว่าสภาพตลาดจะกลับมาเป็นปกติ โดยเฉพาะตลาดยุโรปที่ใช้เวลากว่า 8 ปี ในการฟื้นฟูจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤติการเงินสหรัฐอเมริกาในช่วงปี พ.ศ. 2551
ในช่วงเวลาที่สถานการณ์แพร่ระบาดยังไม่สิ้นสุดลง เพื่อประคับประคองให้ธุรกิจยังดำเนินอยู่ได้ ผู้ผลิตรถยนต์ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการตลาดและการขาย โดยให้บริการผ่านระบบออนไลน์ และบริการนำรถไปให้ลูกค้าทดลองขับยังที่พักอาศัย รวมทั้งต้องปรับรูปแบบการให้บริการทางการเงินแก่ผู้บริโภค ที่อาจจะมีความสามารถชำระต่องวดได้น้อยลง เนื่องจากต้องการสำรองเงินไว้ในกรณีฉุกเฉินหากสถานการณ์แพร่ระบาดรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ ไวรัส โควิด-19 จะเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการตลาดและการขายผ่านทางช่องทางออนไลน์ได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากความสะดวกของผู้บริโภคแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนด้านการตลาดของผู้ขายได้อีกด้วย
ในด้านภาครัฐ อาจดำเนินมาตรการกระตุ้นตลาดควบคู่กับการดำเนินการของภาคเอกชน โดยกรณีของประเทศจีนนอกเหนือจากมาตรการขยายการให้เงินอุดหนุนและพักการชำระภาษีให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์แล้ว รัฐบาลจีนยังให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ซื้อรถเพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขาย โดยมีเงื่อนไขแตกต่างกันในแต่ละเมือง อาทิ เป็นรถยนต์คันแรก นำรถยนต์เก่าที่ปล่อยมลพิษสูงมาแลกรถยนต์ใหม่ที่มลพิษต่ำหรือใช้พลังงานไฟฟ้า หรือให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ที่ซื้อรถยนต์ที่ผลิตในเมืองนั้น ๆ เป็นต้น สำหรับกรณีประเทศไทย อาจนำแนวทางให้เงินอุดหนุนของประเทศจีนมาพิจารณาปรับใช้ โดยเฉพาะการนำรถยนต์เก่าที่ปล่อยมลพิษสูงมาแลกรถยนต์ใหม่ที่มลพิษต่ำหรือใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ด้วย รวมทั้งการช่วยเหลือทางด้านการเงินกับกิจการขนาดเล็กที่มีเงินทุนอย่างจำกัด เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ/ปลอดดอกเบี้ย พักชำระหนี้ชั่วคราว เป็นต้น
แม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสจะส่งผลกระทบต่อตลาดยานยนต์ใหม่ก็ตาม แต่ในอีกด้านหนึ่งจะทำให้ตลาดชิ้นส่วนอะไหล่เติบโตขึ้น เนื่องจากรายได้ที่อาจจะยังไม่แน่นอนทำให้ ผู้บริโภคจำกัดการใช้จ่าย การซ่อมแซมรถยนต์ให้มีสภาพใช้งานได้ดีจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการซื้อรถยนต์คันใหม่ ดังนั้นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทยที่สามารถผลิตได้ทั้งชิ้นส่วนใหม่ (OEM) และชิ้นส่วนอะไหล่ทดแทน (REM) ควรฉกฉวยโอกาสนี้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์กลุ่มอะไหล่เพื่อทดแทนคำสั่งซื้อชิ้นส่วนยานยนต์ใหม่ที่ลดลง ซึ่งอาจเป็นโอกาสทางธุรกิจต่อเนื่องในอนาคตได้ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ ภาครัฐควรกำหนดมาตรฐานชิ้นส่วนกลุ่มนี้ พร้อมจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการทดสอบและวิจัยพัฒนาด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งจัดให้มี Platform กลางด้านชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อเป็นสถานที่ให้ผู้ซื้อพบผู้ขาย อันจะเป็นช่องทางที่ทำให้การจำหน่ายชิ้นส่วนอะไหล่เติบโตได้
4. ผลกระทบจากไวรัส โควิด-19 ต่อกระบวนการผลิตยานยนต์
ดังที่ได้กล่าวไปช่วงต้นแล้วว่า ในช่วงแรกที่ตลาดยานยนต์กลับมาฟื้นตัว จะมีความเป็นไปได้ว่า สายการผลิตอาจไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศต่าง ๆ ได้หยุดการผลิตไป และการปรับเปลี่ยนไปใช้ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตรายอื่นที่ไม่เคยซื้อขายกันมาก่อนน่าจะเกิดขึ้นได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชิ้นส่วนที่ต้องนำเข้าจากประเทศที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ทั้งนี้ แหล่งนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์สำคัญของไทย ลำดับแรก คือ ประเทศญี่ปุ่น สัดส่วนร้อยละ 41 ของมูลค่านำเข้าชิ้นส่วน รองลงมาคือจีน ร้อยละ 13 และอินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี มีสัดส่วนมูลค่านำเข้าใกล้เคียงกันที่ร้อยละ 7 โดยกลุ่มชิ้นส่วนที่นำเข้าคือ ส่วนประกอบและอุปกรณ์สำหรับรถยนต์ และเครื่องยนต์และส่วนประกอบ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61 และ 23 ของมูลค่าการนำเข้าชิ้นส่วน (รูปที่ 5)
ดังนั้น การแก้ปัญหาในระยะสั้น ในช่วงเวลาที่การระบาดยังไม่สิ้นสุดลง ผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนจำเป็นต้องวางแผนการผลิตร่วมกันและทยอยผลิตชิ้นส่วนสำคัญที่ไม่สามารถใช้จากผู้ผลิตอื่นทดแทนได้ และเก็บเป็นสินค้าคงคลังไว้บางส่วนก่อน เพื่อบรรเทาปัญหาความขาดแคลนชิ้นส่วนในอนาคต
อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสจะยังดำเนินต่อไปอีกประมาณสองปี จนกระทั่งไวรัส โควิด-19 จะกลายเป็นโรคติดต่อประจำถิ่น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วน ต้องปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจและใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ ในขณะที่ไวรัสยังคงแพร่ระบาดอยู่ ดังนั้น ในระยะกลาง ผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนจึงต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อลดความเสี่ยงของการติดและแพร่เชื้อไวรัส และบริหารการจัดซื้อชิ้นส่วนจากหลายแหล่ง เพื่อกระจายความเสี่ยง หากเกิดเหตุที่ทำให้แหล่งผลิตหนึ่งๆ มีปัญหาจากการปิดกั้นพื้นที่
มาตรการหนึ่งที่สำคัญคือ ผู้ผลิตรถยนต์ต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ของผู้ผลิตชิ้นส่วน และสามารถดำเนินการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น การติดตั้งเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ Internet-of-Things (IoT) และการประยุกต์ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก (Big data) และ ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ใช้งานร่วมกันในห่วงโซ่อุปทานจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้ IoT นอกจากจะช่วงลดความเสี่ยงการจัดหาชิ้นส่วนในห่วงโซ่อุปทานแล้ว หากนำมาใช้งานร่วมกับระบบการผลิตแบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ ยังช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถควบคุม หรือเฝ้าดูกระบวนการผลิตจากระยะไกลได้ ซึ่งลดการรวมกลุ่มของคนจำนวนมากในสายการผลิตได้ อย่างไรก็ดี มีมาตรการที่ผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนต้องดำเนินการควบคู่กับการนำ IoT มาใช้ คือ ต้องพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบหรือรูปแบบของชิ้นส่วน ให้สอดคล้องกับห่วงโซ่อุปทานที่สามารถเข้าถึงได้ในปัจจุบัน และต้องพัฒนาหรือหันมาใช้ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ (Local Supplier) เผื่อในกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ ทำให้การขนส่งสินค้าระยะไกลไม่สามารถดำเนินการได้ด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ อาจจะยังไม่พร้อมที่จะลงทุนเพิ่ม เนื่องจากต้องการรักษาสภาพคล่องของกิจการก่อน แต่สำหรับผู้ประกอบการที่มีแผนการใช้งานระบบสารสนเทศ หรือระบบอัตโนมัติอยู่แล้ว การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 จะเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการลงทุนเร็วขึ้น หรือลงทุนในเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น อาทิ จากเดิมมีแผนลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน จะต้องลงทุนเพื่อทดแทนการใช้แรงงานมนุษย์ เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 และสร้างความยืดหยุ่นให้กับสายการผลิตเพื่อสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์
ดังนั้น บทบาทของรัฐเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมยานยนต์ จึงมิใช่เพียงแค่การกระตุ้นตลาดในระยะสั้นเท่านั้น แต่ต้องสร้างระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยต่อการนำ IoT มาใช้ในกิจการ เช่น ความสามารถในการเข้าถึงและความครอบคลุมของโครงข่ายโทรคมนาคม รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้และขีดความสามารถของสถานประกอบการให้มีความรู้ความเข้าใจต่อการนำ IoT มาใช้ด้วย และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ภาคธุรกิจ รัฐอาจพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงิน เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ/ปลอดดอกเบี้ย สำหรับกิจการที่ลงทุนระบบ IoT ต่าง ๆ หรือสามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมได้
นอกจากนี้ ในช่วงที่ตลาดยังไม่ฟื้นตัว และผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยังไม่เลิกจ้างแรงงาน เนื่องจากเป็นแรงงานทักษะที่หาทดแทนได้ยาก จึงเป็นโอกาสที่ภาครัฐจะร่วมมือกับสถานประกอบการเพื่อยกระดับทักษะ (Upskill) และพัฒนาทักษะใหม่ (Reskill) ให้กับแรงงานและสถานประกอบการ เพื่อรองรับการผลิตที่จะนำระบบการผลิตแบบอัตโนมัติมาใช้มากยิ่งขึ้น และเพื่อรองรับการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ ในระยะเวลาอันใกล้นี้
5. ผลกระทบจากไวรัส โควิด-19 ต่อรูปแบบยานยนต์ในอนาคต
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ในช่วงต้น การเดินทางด้วยยานยนต์ส่วนบุคคลยังไม่ได้รับกระทบมากนัก เนื่องจากเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยจากการแพร่ระบาด แต่รูปแบบการเดินทางที่ได้รับผลกระทบ คือ ยานพาหนะเพื่อใช้ในระบบขนส่งมวลชนจำนวนมาก เช่น รถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้า โดยในช่วงแรกผู้ให้บริการใช้มาตรการเว้นระยะห่าง (Social Distancing) และการฆ่าเชื้อเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดลง แต่อย่างไรก็ตามมาตรการนี้เป็นเพียงการดำเนินการในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เพราะเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง จำนวนผู้ใช้งานขนส่งสาธารณะจะมีจำนวนหนาแน่นใกล้เคียงกับช่วงเวลาก่อนการระบาดของไวรัส แม้ว่าอาจจะมีประชาชนบางส่วนลดการเดินทางและเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ส่วนบุคคลก็ตาม แต่ยังมีประชากรอีกจำนวนมากที่ไม่มีทางเลือกการเดินทาง นอกจากใช้ขนส่งสาธารณะ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าจะมีรูปแบบการเดินทางแบบใหม่ที่มีลักษณะส่วนบุคคลแต่ใช้ร่วมกัน (Personal shared mobility) มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ มีแนวคิดว่าในอนาคตรถยนต์จะกลายเป็นเพียงอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเคลื่อนที่เท่านั้น รูปแบบรถยนต์อาจเปลี่ยนไป โดย มีขนาดเล็กลง มี 1 ที่นั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการเดินทางในอนาคตที่ต้องการความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะตอบโจทย์ด้วยสุขอนามัยของผู้บริโภคที่อาจมีมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการจำเป็นต้องเพิ่มการให้บริการการทำความสะอาด เพื่อให้ผู้ใช้งานมั่นใจในความปลอดภัยด้านสุขอนามัยด้วย ทำให้ในอนาคตอาจใช้ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่มีความสามารถฆ่าเชื้อโรคติดตั้งในยานยนต์ ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถยนต์ที่ใช้งานร่วมกัน (Shared Mobility Service) และยานยนต์ในระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีผู้พัฒนาชิ้นส่วนกลุ่มดังกล่าวขึ้นแล้ว
6. Key Takeaway
1) การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศใช้มาตรการกักกันเพื่อชะลอการแพร่ระบาด ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายต้องหยุดการผลิตลงชั่วคราว โดยในประเทศไทยมีผู้ผลิตรถยนต์จำนวน 8 ราย ประกาศหยุดการผลิตรถยนต์ชั่วคราวในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563
2) จากการสำรวจของสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) พบว่าการการหยุดการผลิตชั่วคราวของผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทยส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มีคำสั่งซื้อลดลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 30 และมีผู้ผลิตบางรายมีคำสั่งซื้อลดลงถึงร้อยละ 70
3) IHS Markit ประเมินเบื้องต้นว่า อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 มากที่สุด คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เนื่องจากทั้งปัจจัยด้านอุปทานที่ห่วงโซ่อุปทานของการผลิตตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด และปัจจัยด้านอุปสงค์จากการเดินทาง กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง รวมทั้งผู้บริโภคต้องการใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต
4) Oliver Wyman ประเมินผลกระทบของตลาดรถยนต์ไว้ 2 สถานการณ์คือ (1) ตลาดรถยนต์ตอบสนองอย่างรวดเร็วส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2563 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ของโลกลดลงร้อยละ 17 และ (2) ตลาดรถยนต์ตอบสนองช้ากว่าสถานการณ์ที่ 1 ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ของโลกลดลงร้อยละ 29
5) Oliver Wyman ยังประเมินผลอีกว่า ตลาดรถยนต์อาจใช้เวลามากกว่า 3 ปี จึงจะกลับมาอยู่ในสภาวะเช่นเดียวกับก่อนการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 โดยเฉพาะในบางตลาดที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดรุนแรง เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป
6) จากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบ 3 ด้าน คือ
(1) ด้านการจำหน่ายและตลาด จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก และกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง
(2) ด้านการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของไวรัส โควิด-19
(3) ด้านการพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์ การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ต้องพัฒนารูปแบบธุรกิจ และผลิตภัณฑ์ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
7) ภาครัฐและเอกชน สามารถลดผลกระทบทั้ง 3 ด้าน ได้ผ่านมาตรการต่าง ๆ ดังแสดงในตารางที่ 2