6 ทศวรรษ การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

ความสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต่อการพัฒนาประเทศในช่วงหกทศวรรษที่ผ่านมา นับแต่ปี พ.ศ. 2504 จนถึงปี พ.ศ. 2556 นับว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศที่มุ่งปรับเปลี่ยนจากการเป็นประเทศเกษตรกรรมไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งนโยบายของรัฐที่สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมในการแข่งขันนับว่าเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสามารถพัฒนาจากการเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าภายในประเทศจนปัจจุบันมีกำลังการผลิตและปริมาณการผลิตรถยนต์มากกว่า 2 ล้านคันต่อปี และกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณการผลิตรถยนต์เป็นการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศทั่วโลก เป็นฐานการผลิตของรถกระบะ 1 ตัน (ปิกอัพ) อันดับ 1 ของโลก เป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับที่ 10 ของโลกในปี พ.ศ. 2555
ศักยภาพโดยรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น จึงเกิดขึ้นจากการกำหนดทิศทางการพัฒนาของรัฐที่ชัดเจนและสอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมของการแข่งขันในแต่ละช่วง จากนโยบายการปกป้องคุ้มครองอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดการพัฒนาการผลิตในประเทศ นโยบายด้านภาษีเพื่อสนับสนุนการเป็นฐานการผลิตของรถกระบะ 1 ตัน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการที่ประเทศไทยพัฒนามาจากการเป็นประเทศเกษตรกรรมที่รัฐต้องใช้นโยบายช่วยเหลือให้กับภาคเกษตรกรรมในการใช้รถกระบะ 1 ตัน ในการขนส่ง และนโยบายการเปิดเสรีการค้า โดยการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก และเป็นประเทศผู้นำในการสร้างความร่วมมือในอาเซียน จนมาสู่การยกเลิกการปกป้องคุ้มครองเพื่อเปิดเสรีทางการค้าและรัฐปรับเปลี่ยนจากบทบาทการปกป้องคุ้มครองมาเป็นผู้สนับสนับสนุนยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกโดยการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมตามนโยบายการเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งตลอดช่วง 6 ทศวรรษที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านสภาวะทางเศรษฐกิจ ทั้งในและต่างประเทศ สถานการณ์ทางการเมือง การค้า การลงทุน ตลอดจนนโยบายความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบรถยนต์รายใหญ่ที่มีนโยบายการลงทุนและการกระจายการสร้างฐานการผลิตทั่วโลก

ที่มา : สถาบันยานยนต์