บทความเรื่อง ระบบเบรกป้องกันล้อล็อกในยานยนต์และการบำรุงรักษา (ABS)

ปัจจุบันยานยนต์เกือบทุกประเภทเริ่มมีระบบเบรกแบบป้องกันล้อล็อก (ABS: Anti-lock braking system) เข้ามาเป็นอุปกรณ์พื้นฐานมากขึ้น ประกอบกับภาครัฐได้เข้ามาให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของภาคประชาชนมากขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์การลดอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่อย่างไรก็ตามระบบ ABS ไม่ใช่สูตรสำเร็จที่จะแก้ปัญหาได้ทั้งระบบยังต้องมีองค์ประกอบอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ สภาพพื้นผิวถนน การไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร วินัยการใช้รถร่วมกับผู้อื่นบนท้องถนน การเว้นระยะห่างระหว่างคันที่น้อยเกินไป การใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด การแซงในที่ห้ามแซง ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น จะเห็นได้ว่าระบบ ABS จะไม่มีประโยชน์อะไรเลยหากเรายังละเลยกับสิ่งเหล่านี้ ระบบ ABS ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันล้อล็อกในขณะเบรกกะทันหัน  เพื่อทำให้การบังคับรถง่ายขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีการเพิ่มสมรรถนะของเครื่องยนต์ที่สูงขึ้นและแรงม้าเพิ่มขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องออกแบบระบบเบรกให้มีประสิทธิภาพสูงตามไปด้วย ระบบเบรก ABS จึงถูกเลือกมาทำหน้าที่ดังกล่าว โดยเพิ่มอุปกรณ์ที่สำคัญขึ้นมาจากระบบเบรกมาตฐาน เพื่อในการช่วยชะลอ ควบคุมและหยุดรถได้ตามต้องการ

ซึ่งระบบเบรก ABS ในยานยนต์ปัจจุบันถือเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์เชิงป้องกัน (Passive Safety) การทำงานจะเริ่มตั้งแต่การแตะเบรกเบาๆ จนกระทั่งถึงการเบรกแรงๆ ซึ่งในอนาคตระบบเบรกจะมีการทำงานแบบอัตโนมัติ (Autonomous Braking) ร่วมกับระบบ ADAS (Advanced Driver Assistance Systems)  ซึ่งเป็นระบบที่คอยช่วยเหลือคนขับให้สามารถขับรถได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น  ในอนาคตระบบดังกล่าวจะเข้ามามีบทบาทแทนคนขับมากยิ่งขึ้นโดยผ่านเซ็นเซอร์ต่าง ๆ เป็นอุปกรณ์ช่วย อาทิ SONAR (Sound Navigator Racing) ระบบ RADAR (Radio detection and ranging) ระบบ LiRAD (Light Detection and Ranging) และอุปกรณ์อื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน โดยในอนาคตการเบรกนั้นคนขับอาจไม่จำเป็นต้องเหยียบเบรกเอง ซึ่งรถสามารถขับเคลื่อนได้เองและหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางได้เองอีกด้วย รวมถึงรถสามารถสื่อสารกันเองได้ระหว่างรถกับรถ (V2V) รถกับคน และรถกับสิ่งแวดล้อม (V2I) เป็นต้น อยากให้ท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับอุปกรณ์พื้นฐานของระบบ ABS หลักการทำงานและการบำรุงรักษาพอสังเขป ดังนี้

หลักการทำงานของระบบเบรก
1. ระบบเบรกพื้นฐาน หมายถึงระบบเบรกที่เมื่อมีการเหยียบแป้นเบรก แรงดันจากแม่ปั้มเบรกวิ่งผ่านท่อแรงดันไปยังชุดลูกสูบหรือคาลิเปอร์เบรกของแต่ละล้อ เพื่อดันผ้าเบรกให้จับกับจานเบรก/ดรัมเบรก เพื่อชะลอความเร็วหรือหยุดรถตามความต้องการของผู้ใช้รถ โดยแรงดันของน้ำมันทุกจุดของระบบเบรกเท่ากันและหากมีการเหยียบเต็มแรงๆ แบบกะทันหันอาจเกิดอาการล้อล็อค (Lock Braking System) ทำให้ผู้ใช้รถควบคุมรถยากและอาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
 

2. ระบบเบรกแบบมี ABS เป็นระบบเบรกที่เพิ่มเติมอุปกรณ์ขึ้นมาจากระบบเบรกแบบมาตรฐาน (ดูตัวอย่างชิ้นส่วนได้ตามตารางที่1)* เมื่อมีการเหยียบแป้นเบรก แรงดันน้ำมันเบรกจากแม่ปั้มเบรกจะวิ่งผ่านท่อแรงดันไปยังชุดอุปกรณ์ควบคุมแรงดัน (Hydraulic Unit) ซึ่งทำงานโดยการควบคุมด้วยกล่องควบคุมระบบ ABS (Electronic Control Unit) ซึ่งรับสัญญาณมาจากเซ็นเซอร์ตรวจจับความเร็วที่ล้อแต่ละล้อ (ABS Wheel Speed Sensor) ก่อนปล่อยแรงดันไปควบคุมชุดลูกสูบแต่ละล้อเพื่อดันผ้าเบรกให้จับกับจานเบรก/ดรัมเบรก ในการชะลอความเร็วหรือหยุดรถตามความข้องการ โดยมีแรงดันน้ำมันเบรกที่ไปควบคุมแต่ละล้อ มีการทำงานในลักษณะจับปล่อยๆ ซึ่งผู้ขับขี่รู้สึกได้เมื่อมีการเหยียบเบรกรถที่มีระบบ ABS แบบแรง ๆ และกะทันหัน จะมีแรงส่งสั่นต้านมาที่เท้าผู้ขับขี่แบบถี่

การบำรุงรักษาระบบเบรก
การดูแลระบบเบรกรถให้ เกิดความมั่นใจอยู่ตลอดเวลานั้น ผู้ใช้จำเป็นต้องมีความรู้และทักษะในการดูแลรักษา ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตนเองผู้โดยสารและเพื่อนร่วมทาง รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่นำรถไปใช้งาน โดยในที่นี้จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

1) กลุ่มรถป้ายแดง (รถใหม่จากศูนย์)
สำหรับรถใหม่ทุกคันที่ซื้อมาใช้กัน ส่วนมากทุกระบบอยู่ในความดูแลของศูนย์บริการของยี่ห้อนั้นๆ เป็นผู้รับผิดชอบหรือที่เรียกกันว่าประกันศูนย์ (Warranty) คือผู้ผลิตเป็นผู้ที่รับผิดชอบในการซ่อมหรือเปลี่ยนชิ้นส่วนที่บกพร่องในเวลาที่ตกลงกันไว้ในสัญญา ดังนั้นหน้าที่การดูแลระบบต่างๆ ของรถทั้งหมดส่วนใหญ่จะเป็นหน้าที่ของศูนย์บริการ ส่วนผู้ใช้ก็ไม่ต้องสนใจในรายละเอียดมากหนักหากไม่มีสัญญาญอะไรฟ้องออกมาชัดเจน เพียงแต่นำรถเข้าศูนย์บริการตามเวลาที่กำหนดและไม่นำรถไปดัดแปลงอะไรที่นอกเหนือจากมาตรฐานของโรงงานกำหนด  แต่อย่างไรก็ตามผู้ใช้ก็ต้องหมั่นสังเกตไฟเตือน (Indicator) ที่หน้าปัดหรือเสียงดังต่างๆ ขณะใช้รถ หากพบปัญหาผิดปกติจะต้องนำรถเข้าศูนย์บริการทันที เพื่อป้องกันปัญหาร้ายแรงที่อาจจะตามมาในภายหลัง เช่น ถ้าไฟเตือนระบบเบรกโชว์ที่หน้าปัด ปัญหาที่อาจเป็นได้ อาทิ ผ้าเบรกบางหรือต่ำกว่าที่กำหนด น้ำมันเบรกต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เกิดน้ำมันเบรกรั่วซึม หรือระบบควบคุมเกิดการขัดข้อง เป็นต้น

2) กลุ่มรถที่ซื้อมือสองและรถที่หมดประกันศูนย์บริการ
รถกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ตัวอย่างกรณีรถมือสองเนื่องจากเราไม่ทราบประวัติการเข้าศูนย์บริการที่แน่นอนตามที่กำหนดหรือไม่ ดังนั้นหากเราใช้รถกลุ่มนี้อยู่จำเป็นต้องนำรถไปหาช่างที่มีความชำนาญและอาจจำเป็นต้องเริ่มต้นตรวจสอบใหม่ทุกระบบไม่เพียงแต่ระบบเบรกเท่านั้น เพื่อให้มีประวัติไว้ในการบำรุงรักษาระยะต่อไปและเป็นการสร้างความมั่นใจในการใช้งานและลดความเสี่ยงเรื่องรถเสียขณะใช้งาน ซึ่งรถกลุ่มที่หมดประกันศูนย์บริการ ส่วนหนึ่งประมาณ 20-30% ยังคงใช้ศูนย์บริการต่อและอีกประมาณ 70% ใช้บริการอู่ข้างนอก หากเจออู่ที่เป็นมืออาชีพมีความชำนาญ ก็โชคดีของผู้ใช้รถ แต่ถ้าเจอแบบตรงข้ามก็ต้องทำใจ สำหรับในที่นี้ขอเสนอเพียงเป็นความรู้เบื้องต้นหลักการทำงานและการเตรียมการบำรุงรักษาระบบเบรกให้มีประสิทธิภาพและพร้อมใช้งานอยู่เสมอ โดยแบ่งตามอุปกรณ์หลักพอสังเขปดังนี้

2.1 แม่ปั้มเบรก (Master Cylinder Brake) ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงแรงที่เกิดจากการเหยียบแป้นเบรกให้เป็นแรงดัน
น้ำมันเบรกและจะเพิ่มแรงดันที่แม่ปั๊มเบรกให้มากขึ้น ซึ่งแม่ปั๊มเบรกมี 2 ประเภท คือ  แม่ปั๊มเบรกแบบวงจรเดียวและแบบสองวงจร แม่ปั๊มเบรกแบบวงจรเดียว (Single-piston  Master  Cylinder) เป็นแม่ปั๊มเบรกที่ใช้ในรถยนต์รุ่นเก่า โดยมีข้อเสียคือเมื่อเกิดการรั่วขึ้นที่จุดใดจุดหนึ่งในระบบเบรกจะทำให้ระบบเบรกของรถคันนั้นไม่สามารถใช้งานได้เลย ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถอย่างยิ่ง ปัจจุบันได้เลิกใช้แล้ว ส่วนแม่ปั๊มเบรกแบบสองวงจร  (Tandem brake Master  Cylinder) เป็นแม่ปั๊มเบรกที่แยกการทำงานของระบบน้ำมันเบรกเป็น 2 ห้อง โดยแยกห้องล้อหน้า/หลัง ออกจากกัน ดังนั้นเมื่อมีการรั่วของห้องใดห้องหนึ่งอีกห้องที่เหลือยังคงใช้ได้  เพียงแต่ประสิทธิภาพในการเบรกจะลดน้อยลง ซึ่งถือเป็นโหมดความปลอดภัยอย่างหนึ่งทำให้รถชะลอและหยุดได้ก่อนนำรถไปซ่อมบำรุงรักษาต่อไป แม่ปั้มเบรกชนิดดังกล่าวนิยมใช้ในปัจจุบัน
 
2.2 น้ำมันเบรก (Brake Fluid)

2.2.1 กรณีรถในกลุ่มที่ 1 กลุ่มรถป้ายแดง (รถใหม่อยู่ระหว่างประกันศูนย์บริการ) ควรเข้าศูนย์บริการให้สม่ำเสมอเพื่อเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรกตามคู่มือที่ผู้ผลิตกำหนด ซึ่งส่วนมากการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรกอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งหรือตามคู่มือกำหนด มิฉะนั้นน้ำมันเบรกอาจมีผลต่ออายุการใช้งานของซีลยางต่าง ๆ ในระบบเบรกได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเปลี่ยนน้ำมันเบรกหลัง
ฤดูฝน ในขณะเดียวกันเป็นโอกาสให้ช่างได้ตรวจสภาพระบบเบรก อาทิ Caliper เบรก จานเบรก ผ้าเบรก รอยรั่วซึม
สภาพท่ออ่อนน้ำมันเบรก เซ็นเซอร์ ABS ทดสอบแรงเบรกด้วยเครื่อง (บางศูนย์บริการ) ทำความสะอาด เป่าฝุ่นระบบเบรก รวมถึงการทดสอบการทำงานจริงของเบรกด้วยการทดสอบวิ่งโดยช่างผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นถ้าหากผู้ใช้รถมีการนำรถเข้าศูนย์บริการตามที่กำหนดคาดว่าวางใจได้ในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามผู้ใช้รถควรมั่นสังเกตอาการหากของรถขณะใช้งาน หากเกิดความผิดปกติเรื่องเบรกต้องนำรถเข้าศูนย์บริการทันที เช่น สัญลักษณ์ไฟเบรกโชว์ที่หน้าปัด มีเสียงดังขณะเบรก เกิดอาการสั่นขณะเหยียบเบรก ขณะเบรกรถเอียงซ้ายหรือขวาหรือขณะเบรกมีเสียงดัง เหล่านี้เป็นต้น

2.2.2 กรณีรถในกลุ่มที่ 2 กลุ่มรถที่ซื้อมือสองและกลุ่มรถที่หมดประกันศูนย์บริการ รถกลุ่มนี้ผู้ใช้จำเป็นต้องเข้าใจรถที่ตนเองซื้อมาใช้ด้วย เพื่อลดความเสี่ยงในการใช้งานและใช้รถได้อย่างปลอดภัย ดังนั้นขอแบ่งเป็นข้อย่อย ดังนี้

- กลุ่มรถที่หมดประกันจากศูนย์บริการ ในกรณีนี้บางท่านที่ยังใช้ศูนย์บริการอยู่ต่อไปก็คงยังไม่มีปัญหาอะไรมากวนใจมากหนัก เพราะศูนย์บริการดูแลต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่อาจมีบางท่านไม่สะดวกที่จะใช้ศูนย์บริการต่อไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจหรืออะไรก็ตาม กรณีนี้ท่านจำเป็นต้องมีความรู้เรื่องระบบเบรกบ้าง อย่างน้อยก็ควรรู้ว่าเปลี่ยนผ้าเบรกล่าสุดเมื่อไร ปัญหาแบบไหนต้องรีบพารถไปหาช่างที่เราไว้ใจ เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจอาศัยประสบการณ์ที่ใช้รถคันดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง

- กลุ่มรถที่ซื้อมือสองมาใช้งาน หากรถคันดังกล่าวไม่มีประวัติการบำรุงรักษาที่ชัดเจนจากผู้ขาย ผู้ที่ซื้อรถมาใช้งานอาจมีความจำเป็นต้องเริ่มต้นทำประวัติการบำรุงรักษาขึ้นมาใหม่ เพื่อแสดงสถานะของระบบเบรกหรืออื่น ๆให้ชัดโดยนำรถไปให้ช่างผู้เชี่ยวชาญตรวจเช็คว่าสภาพชิ้นส่วนของระบบเบรกยังอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเสมอและถ้าหากชิ้นส่วนใดไม่สมบูรณ์ให้ทำการแก้ไขให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน จากนั้นผู้ใช้ควรบันทึกเป็นประวัติของรถไว้ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่เพียงแต่ระบบเบรกเท่านั้นระบบอื่นก็ต้องทำเช่นกัน
 

2.3 หม้อลมเบรก (Brake Booster)
หม้อลมเบรก (Brake Booster) เป็นชิ้นส่วนที่สำคัญในระบบเบรกของยานยนต์ หากหม้อลมเบรกเกิดการชำรุด รั่วอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้นถ้าหากหม้อลมเบรกเสียหายไม่ว่าระบบเบรกจะออกแบบมาดีเพียงไรก็จะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สำหรับหน้าที่และการทำงานของหม้อลมเบรกคือช่วยผ่อนแรงการเหยียบเบรกให้มีความนิ่มนวลขึ้น โดยการทำงานด้วยระบบสูญญากาศ เมื่อมีการสตาร์ทเครื่องยนต์ในหม้อลมเบรกจะมีแผ่นไดอะเฟรมและท่อที่เชื่อมต่อกับท่อร่วมไอดี ในขณะที่สตาร์ทเครื่องยนต์อากาศจะถูกดูดไปใช้เพื่อการเผาไหม้ผ่านทางท่อร่วมไอดีที่เชื่อมต่อกับหม้อลมเบรกทำให้ภายในหม้อลมเบรกเกิดสภาวะสูญญากาศ ซึ่งปกติจะมีวาล์วกันกลับ (Check Valve) กั้นกลางระหว่างอุปกรณ์ ทำให้เกิดแรงเสริมขณะเหยียบเบรก ผู้ขับออกแรงในการเหยียบเบรกน้อย ทำให้การขับรถไม่เหนื่อย สำหรับอาการหม้อลมเบรกเสียหรือรั่ว ที่สามารถสังเกตอาการได้ เช่น ขณะเหยียบแป้นเบรกรู้สึกว่าต่ำกว่าปกติหรือเหยียบแป้นเบรกค้างไว้แล้วค่อยๆ จมลงหรืออาจจะมีเสียงลมรั่ว ขณะเหยียบแป้นเบรกจะแข็งออกแรงเหยียบมากกว่าเดิมหรือเบรกไม่ค่อยอยู่ เหล่านี้เป็นต้น และอย่าลืมเมื่อเกิดอาการผิดปกติดังกล่าวให้หยุดใช้งานและรีบนำรถไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ เพื่อทำการแก้ไขให้สมบูรณ์ และที่สำคัญมั่นตรวจสอบระดับน้ำมันเบรกอยู่เสมอ หากระบบเบรกปกติน้ำมันเบรกลดลงตามขนาดความหนาบางของผ้าเบรก กรณีนี้ไม่ต้องเติมน้ำมันเบรก เพราะเมื่อเปลี่ยนผ้าเบรกใหม่น้ำมันเบรกจะขึ้นสู่ระดับเดิม แต่หากต่ำกว่าปกติให้รีบนำรถไปซ่อมทันที
 
2.4 ผ้าเบรก (Brake Lining/Pad)
ผ้าเบรกควรได้รับการตรวจสถาพอย่างสม่ำเสมอ ผ้าเบรกยานยนต์อยู่ในกลุ่มชิ้นส่วนสิ้นเปลือง เนื่องจากใช้แล้วหมดไปคือมีการสึกหรอเร็ว โดยเฉพาะรถที่ใช้ในเมืองใหญ่ที่มีสภาพการจราจรแออัด โดยเฉลี่ยการเปลี่ยนผ้าเบรกหน้า 2 ครั้ง ต่อการเปลี่ยนผ้าเบรกหลัง 1 ครั้ง เนื่องจากการรับแรงที่ต่างกันระหว่างล้อหน้าและล้อหลัง ท่านสามารถตรวจสอบผ้าเบรกด้วยวิธีง่ายๆ ได้ด้วยตนเอง ซึ่งมีอยู่หลายสาเหตุที่สามารถสังเกตได้ เช่น ถ้าขณะเหยียบเบรกแล้วรู้สึกว่าแป้นเหยียบเบรกต่ำกว่าปกติที่เคยเหยียบ เบรกมีเสียงดัง ระดับน้ำมันเบรกต่ำกว่าขีดต่ำสุด (MIN)  ระดับเบรกมือสูงขึ้นขณะใช้งาน (ซึ่งสภาพปกติของการใช้งานเบรกมือแบบสายจะประมาณ 3-4 แก๊ก) หรือไฟหน้าปัดแสดงความผิดปกติของระบบเบรกให้รีบนำรถของท่านปรึกษาช่างผู้ชำนาญการดีที่สุด 

2.5 จานเบรก (Disc/Drum brake) แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ

2.5.1 จานเบรกแบบดรัมเบรก (Drum Brake) ดรัมเบรกมีลักษณะโครงสร้างแบบครึ่งวงกลมคล้ายถ้วย มีแม่ปั้มเบรก
ผ้าเบรกประกอบอยู่ภายใน โดยที่ผ้าดรัมเบรกจะมีลักษณะรูปครึ่งวงกลม จำนวน 2 ชิ้น และมีชุดสปริงดึงกลับ ชุดเบรกมือ และกลไกตั้งระยะห่างระหว่างผ้าเบรกกับผิวโค้งด้านในของดรัมเบรก โดยมีข้อดี คือมีพื้นที่สัมผัสระหว่างผ้าเบรกกับจานเบรกมาก ผ้าเบรกสึกหรอช้ากว่าแบบจาน Dise ลดปัญหาเรื่องจานเบรกคต ส่วนข้อเสีย คือ ประสิทธิภาพในการระบายความร้อนต่ำ หากเบรกบ่อยจะเกิดอาการลื่นเนื่องจากความร้อนสูง ต้องคอยตั้งระยะผ้าเบรกบ่อยและต้องระวังเรื่องระยะผ้าเบรกในแต่ละล้อที่ไม่เท่ากัน (ควรใช้ช่างที่มีความเชี่ยวชาญ) ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการเบรกโดยตรง ถ้าหากเกิดการเปียกน้ำจะแห้งช้า ทำให้ลื่นขณะเบรกและมีการสะสมฝุ่นมาก ซึ่งปัจจุบันยังมีใช้ในล้อหลังรถยนต์นั่งบางกลุ่มและรถบรรทุกทั่วไป

2.5.2 จานเบรกแบบดีสเบรก (Disc Brake) จานเบรกชนิดนี้มีลักษณะกลมและแบน โดยมีหลายชนิดซึ่งขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งานและราคา อาทิ แบบมีครีบระบายความร้อนมีข้อดีคือ มีการระบายความร้อนที่ดี ลดอาการลื่นของเบรกเมื่อมีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง มีการปรับระยะห่างระหว่างผ้าเบรกกับจานเบรกเอง เพิ่ม-ลด ตามความหนาของผ้าเบรก ประสิทธิภาพการเบรกใกล้เคียงกันทุกล้อ ลดการสะสมของฝุ่นและตรวจสอบสถาพผ้าเบรกได้ง่าย ส่วนข้อเสียเนื่องจากจานเบรกติดตั้งในที่โล่งทำให้สัมผัสกับสิ่งสกปรกอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดการสึกหรอเร็วและอาจเกิดการบิดตัวได้ง่าย เมื่อวิ่งผ่านน้ำในขณะที่ดีสเบรกมีความร้อนสูงและราคาแพงเบรกชนิดดรัม


2.6 ชุดควบคุมแรงดัน (Hydraulic unit & Electronic Control Unit (ECU) และ ABS Wheel Speed Sensor)
รวมถึงอุปกรณ์ส่วนควบ ระบบ ABS (Anti-lock Braking system) ซึ่งในระบบ ABS ประกอบด้วยอุปกรณ์เบรกพื้นฐานที่สำคัญคือ ชุดควบคุมแรงดัน ทำหน้าที่สร้างและกระจายแรงดันไปยังล้อแต่ละล้ออย่างเหมาะสม โดยการควบคุมและสั่งการของ ECU ซึ่งรับสัญญาณมาจาก Wheel Speed Sensor ที่แกนล้อหรือเพลากลาง (ขึ้นกับจำนวนของ Chanel) เพื่อตรวจจับความเร็วของล้อและส่งไปยัง ECU ของระบบ ABS เพื่อสั่งชุดควบคุมแรงดันให้ปล่อยแรงดันไปยังล้อต่าง ๆ ป้องกันล้อล็อคขณะเบรกและง่ายต่อการบังคับรถให้อยู่ในทิศทางที่ต้องการ

2.7 คาริเปอร์เบรก (Brake Caliper)
กรณีคาริเปอร์เบรกที่ใช้กับ Disc Brake จะมีลักษณะเป็นก้ามปู ภายในมีลูกสูบเบรกเคลื่อนที่อยู่ข้างในป้องการรั่วของน้ำมันเบรกโดยซีลในรูปแบบโอริง (O-ring) และมียางกันฝุ่นป้องกันไม่ให้ฝุ่นเข้าระบบ ซึ่งมีหลายชนิด อาทิ ชนิด 1 พอร์ท หรือ 4 พอร์ท ที่พบเห็นบ่อย กรณีระบบดรัมเบรกจะเรียกว่า “กระบอกเบรก” มีลักษณะเป็นทรงกระบอกกลวง ภายในมีลูกสูบเบรก โอริงและยางกันฝุ่นประกอบติดกัน ทั้ง 2 ด้าน สำหรับต่อมาดันกับผ้าดรัมเบรกให้ขยับเข้า-ออก

ข้อแนะนำ เชิงปฏิบัติในการใช้รถโดยทั่วไป หากเป็นไปได้ไม่ควรนำรถไปซ่อมต่างค่าย ดังสำนวนไทยที่ว่า “ลางเนื้อชอบลางยา” (one man's meat is another poison) ซึ่งส่วนมากช่างที่เปิดอู่ซ่อมรถมาจากศูนย์บริการยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง จึงมีความชำนาญเฉพาะทางสูง หากเป็นยี่ห้อที่แตกต่างก็อาจจะซ่อมได้เช่นกัน แต่อาจจะมีความเชี่ยวชาญไม่เพียงพอ (บางส่วนอาจเก่งแต่น้อยมาก) ด้วยเหตุผลของการออกแบบที่แตกต่าง  เช่น เครื่องมือที่ใช้ในการถอดประกอบมาตรฐานยุโรปกับญี่ปุ่นก็ต่างกัน ซึ่งทำให้เกิดการใช้เครื่องมือที่ไม่เหมาะขึ้น (เช่นใช้สกัดแทนประแจขันน๊อตเหล่านี้เป็นต้น) ความเชี่ยวชาญเฉพาะรุ่นของผู้ปฏิบัติงานช่างต้องเรียนรู้ใหม่ ซึ่งเสี่ยงต่อความผิดพลาดที่ตามมา อาทิ ชิ้นส่วนอาจชำรุดจากการถอดประกอบที่ไม่ชำนาญ ทำให้เสียเวลา เสียเงิน หากเลือกได้ก็ “พยายามหลีกเลี่ยง”หรือภาษาสมัยใหม่เรียกว่า “อย่าหาทำ” (ถ้าไม่จำเป็น) แต่อย่างไรก็ตามอาจมีบางอู่และช่างบางคนที่มีความรู้ความสามารถซ่อมได้ทุกค่ายก็เป็นได้ คนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก

ที่มา: http://thaiauto.or.th/2020/th/magazine/fullpage.asp?id=155#pdfflip-AutoNav_155/29