การชนด้านหน้าและด้านข้างของรถยนต์ เตรียมประกาศเป็น มาตรฐานบังคับใหม่ ภายในปี 2567

ตามที่ รมต.อุตสาหกรรม ได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ออกประกาศกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งมาตรฐานความปลอดภัยจากการชนด้านหน้าและด้านข้าง ตาม มอก. 2400 - 2563 (UN R 94) และ มอก. 2399 - 2563 (UN R 95) มีกำหนดจะสามารถประกาศ มอก.บังคับใหม่ด้านยานยนต์ ภายในปี 2567 ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรฐาน Passive Safety ที่มีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการปกป้องผู้โดยสารเมื่อมีการเกิดอุบัติเหตุ 

1. มอก. 2400-2563 (UN R94)
การป้องกันผู้โดยสารเมื่อเกิดการชนด้านหน้าของยานยนต์
มาตรฐานนี้ครอบคลุมยานยนต์ประเภท M1 ที่มีน้ำหนักรวมไม่เกิน 2.5 ตัน หรือยานยนต์อื่นที่มีการร้องขอจากผู้ทำ โดยทั่วไปแล้วการทดสอบการชนด้านหน้ามี 2 แบบหลัก ๆ คือ 
1. การชนด้านหน้าแบบ 100% (100% Front Impact) 
2. การชนด้านหน้าแบบเยื้องศูนย์ (40% Offset Impact)
https://data.thaiauto.or.th/auto/auto-law-th/auto-thailand-standard/7-gov-policy-general/9594 

2. มอก. 2399-2563 (UN R95)
การป้องกันผู้โดยสารเมื่อเกิดการชนจากด้านข้างของยานยนต์ 
มาตรฐานนี้ครอบคลุมลักษณะการชนด้านข้างของโครงสร้างห้องผู้โดยสาร สำหรับยานยนต์ประเภท M1 และ N1 ซึ่งมีจุด R ของที่นั่งต่ำสุดไม่เกิน 700 มิลลิเมตร จากระดับพื้น เมื่อยานยนต์อยู่ในสภาวะสอดคล้องกับมวลอ้างอิงของมาตรฐานนี้
https://data.thaiauto.or.th/auto/auto-law-th/auto-thailand-standard/7-gov-policy-general/9593 

ทั้งนี้ การทดสอบการชนด้านหน้าและด้านข้าง เพื่อพัฒนาการสร้างความปลอดภัยให้ผู้ขับขี่ เพิ่มมากขึ้นและเป็นแนวทางในการออกแบบและพัฒนายานยนต์ให้เหมาะสมที่สุด โดยหากผู้ขับขี่รถยนต์ได้รับแรงกระแทกอย่างแรง และทำให้โครงสร้างของรถยนต์เกิดการเสียหายและพัง นำไปสู่การเกิดอันตรายต่อผู้ขับขี่ ในรถยนต์รุ่นนั้น ๆ โดยลักษณะการวิเคราะห์จะเป็นการศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับโครงสร้างของกระดูกโดยอาศัยหุ่นจำลองเป็นตัวแทน จะถูกนำกลับไปปรับปรุงและพัฒนายานยนต์ให้มีความปลอดภัยมากขึ้น 

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้ผลักดันและดำเนินการก่อสร้างห้องปฏิบัติการทดสอบมาตรฐานการชนด้านหน้าและด้านข้าง หรือ Crash Test ขึ้น ณ ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา โดยคาดว่าการก่อสร้างจะดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมให้บริการได้ในปี 2569

ที่มา: สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และ สถาบันยานยนต์

หมายเหตุ:     M1 หมายถึง รถยนต์นั่ง และ N1 หมายถึง รถยนต์บรรทุก