ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ ดนัยณัฏฐ์ เปิดสายการผลิตแบตเตอรี่ EV สู่การพัฒนานวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทยมุ่งสู่สังคมสีเขียว 

ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ ดนัยณัฏฐ์ เปิดสายการผลิตแบตเตอรี่ EV สู่การพัฒนานวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทยมุ่งสู่สังคมสีเขียว 
 
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวรัชนิดา นิติพัฒนาภิรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ ได้รับเกียรติเข้าร่วมงานพิธีเปิดสายการผลิตแบตเตอรี่ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าของ บริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดดังกล่าว และนายเฉิน เหล่ย กรรมการผู้จัดการบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด นายหยาง หงซิน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองประธานฝ่ายการตลาด เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประจำภูมิภาคอาเซียน นายสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นางสาวจาง เซียวเซียว ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจและพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ร่วมเปิดงาน ณ โรงงานบริษัทฯ ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านในระยะ 5 ปี  
โดยให้ความสำคัญกับการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมระบบกักเก็บพลังงานซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่ 
และให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างครบวงจร ซึ่งขับเคลื่อนภายใต้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีการกำหนดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 30 หรือ เป้าหมายที่เรียกว่า 30@30 รวมไปถึงมาตรการสำคัญต่าง ๆ ประกอบด้วย การส่งเสริมการลงทุนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน การกำหนดกระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญใน Free-zone การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (มาตรการ EV3 และ EV3.5) การกำหนดมาตรฐานการใช้งานและความปลอดภัย รวมทั้งการให้บริการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ในการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเทียบเท่ามาตรฐานสากล ด้วยการให้บริการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในเรื่องความปลอดภัยการทำงานของระบบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรฐานสากล UN R100 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และ UN R136 สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น 

จากการขับเคลื่อนของรัฐบาล ยานยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มียอดจดทะเบียนใหม่รวม 76,793 คัน เมื่อเทียบกับปี 2565 อยู่ที่ 10,232 คัน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 7.5 เท่า และในเดือนมกราคมที่ผ่านมา รถยนต์ไฟฟ้า ORA Good Cat ได้เปิดสายการผลิตและกำลังจะมีโรงงานอีกหลายแห่งที่เริ่มทยอยผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในปีนี้ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค ปีนี้คาดว่าจะมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารวม 30,000-50,000 คันขึ้นไป นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนที่สำคัญ รวมทั้งการส่งเสริมการจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วในประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าจากการนำแบตเตอรี่กลับมาใช้ใหม่ตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และจะกำหนดมาตรการที่เหมาะสมให้เกิดการลงทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มจากการนำแบตเตอรี่ใช้แล้วมาใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS)  




สำหรับการเปิดโรงงานของบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้ไทยบรรลุเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 30@30 และส่งผลต่อการขยายการลงทุนในการผลิตแบตเตอรี่อย่างครบวงจร รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทยมุ่งสู่สังคมสีเขียวต่อไป