รวอ. เข้าพบหารือนักลงทุนสาขาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์จีน

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ นายชาลี ขันศิริ ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์และคณะทำงาน เข้าพบหารือนักลงทุนสาขาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การดำเนินโครงการ ”Capacity Building for Auto Parts Suppliers with Sustainable Development toward Transportation and Smart Mobility: ADAS system, new energy vehicle, rail system, aircraft parts, electronic parts, vehicles for aging people“ (โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สู่อุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ระบบการขนส่งและเคลื่อนที่อัจฉริยะ: ระบบขับขี่อัตโนมัติ (ADAS) ยานยนต์สมัยใหม่ ระบบราง ชิ้นส่วนอากาศยาน ชิ้นส่วนอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์สําหรับผู้สูงวัย) สนับสนุนโดยกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง สาธารณรัฐประชาชนจีน 

🔹นครเซี่ยงไฮ้
🔸 SAIC Motor Co., Ltd
สำนักงานใหญ่ เป็นบริษัทรถยนต์รายใหญ่ที่สุดที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นของจีน ปัจจุบัน ธุรกิจหลักครอบคลุมการวิจัยและพัฒนา การผลิตและจำหน่ายทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ โดยมีฐานการผลิตรถยนต์ 15 แห่งในจีนรวมทั้งบริษัทในเครือกระจายในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ ไทย อินโดนีเซีย อินเดีย อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา สำหรับการลงทุนในไทย เป็นบริษัทรถไฟฟ้ารายแรกๆที่เข้ามาลงทุน ตั้งแต่ปี 2556 โดยการร่วมทุนกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำหน่ายรถยนต์ MG สินค้าในปัจจุบันประกอบด้วย ยานยนต์สันดาปภายใน ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด และยานยนต์ไฟฟ้า โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้กล่าวขอบคุณบริษัทฯ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย พร้อมทั้งนำเสนอนโยบาย EV3.5 ของรัฐบาล ในการสนับสนุนการผลิตและจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังเห็นความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรร่วมกันเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในความร่วมมืออุตสาหกรรม

🔹 เมืองหลี่หยาง มณฑลเจียงซู (เดินทางรถไฟความเร็วสูง)
🔸United Auto Battery Co., Ltd (SAIC & CATL Battery Factory) พัฒนาโดยบริษัท SAIC Motor ผลิตแบตเตอรี่เทคโนโลยีใหม่ เพื่อเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่อย่างยั่งยืน รวมถึงการออกแบบระบบจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมห่วงโซ่อุทานของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์พลังงานใหม่ในจีน โดยโรงงานใช้การผลิตด้วยเครื่องจักรกลอัจฉริยะเป็นหลัก ร่วมกับการตรวจสอบมาตรฐานโดยเจ้าหน้าที่  นอกจากนี้ CATL ได้มีการขยายการผลิต และการวิจัยและพัฒนา โดยการตั้งฐานการผลิตในสหภาพยุโรป และหน่วยวิจัยในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ คณะได้เยี่ยมชมการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในขั้นตอนที่สำคัญ อาทิ การบรรจุสารอิเล็กโทรไลต์ การอบเพื่อกำจัดความชื้น และการทดสอบมาตรฐาน


🔸SVOLT Energy Technology พัฒนาจากหน่วยผลิตแบตเตอรี่ของบริษัท Great Wall Motors (GWM) ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงระดับโลกที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่รถยนต์และวัสดุสำหรับเก็บพลังงาน ผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ แร่ส่วนประกอบของแบตเตอรี่ เซลล์แบตเตอรี่ และโมดูลแบตเตอรี่  ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ ตลอดจนผลิตภัณฑ์กักเก็บพลังงาน ปัจจุบันได้มีการร่วมทุนกับบริษัทของไทย และอยู่ระหว่างการขอรับการส่งเสริมการลงทุน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการจ้างงานและฝึกอบรมบุคลากร การจดสิทธิบัตรและถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจนการสร้างห่วงโซ่อุปทานครบวงจนด้านแบตเตอรี่และชิ้นส่วน โดยเฉพาะการจัดการหลังสิ้นสุดอายุการใช้งาน และได้มีการลงนามความร่วมมือใน MOU ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เพื่อพัฒนาบุคลากรและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับไทย

ที่มา #mlcindustry