นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาป ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้มีนโยบายให้ความสำคัญกับการผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของไทย ก้าวสู่ความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และขับเคลื่อนนโยบายโดย คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ บอร์ด EV ที่มีท่านนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งต้องอาศัย ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรม EV ของประเทศ
ซึ่งจากกการประชุมบอร์ด EV ที่ผ่านมาที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการ EV 3.0 และ EV 3.5 ซึ่งจะเห็นได้ว่า มาตรการดังกล่าว ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน โดยการดึงนักลงทุนรายใหม่ให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ กระตุ้นให้ผู้ประกอบการรายเดิมสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับฐานการผลิตยานยนต์ของประเทศไทย และทำให้ไทยสามารถรักษาความเป็นผู้นำด้านยานยนต์อันดับ ในอาเซียน และ 1 ใน 10 ของโลก รวมทั้งสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการลดก๊าซเรือนกระจก และก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 ด้วย
สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐบาลได้มอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) โดยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ โดยตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการทดสอบคุณภาพยานยนต์และยางล้อระดับมาตรฐานสากล ศูนย์ทดสอบแห่งนี้ได้เปิดให้บริการแล้ว และพร้อมเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบและครบวงจรในปี 2569
“ความร่วมมือระหว่าง สมอ. กับ สวทช. ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านการมาตรฐาน และด้านเทคโนโลยีของประเทศ นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่จะเกิดความร่วมมือกันระหว่าง 2 กระทรวงอย่างเป็นรูปธรรม โดยทั้ง สมอ. และ สวทช.จะบูรณาการความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนและยกระดับมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์แก่ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว
ที่มา: กระทรวงอุตสาหกรรม