เปิดตัวภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กหนุนอุตสาหกรรม EV ในประเทศ​

นายศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้รับมอบหมายจากนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้เป็นประธานในพิธีเปิดตัว “ภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก” ซึ่งจัดโดย สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย และเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐและเอกชน ภายในงาน International Energy Storage Forum 2024 - TESTA Annual Symposium ครั้งที่ 4

นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และ ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล นายกสมาคมเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไทย เข้าร่วม ณ ห้องประชุม MR 111 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

สำหรับภาคีเครือข่ายนี้มีเป้าหมายหลักในการลดข้อจำกัดของการใช้งานแบตเตอรี่ในประเทศไทย ครอบคลุมประเด็นด้านราคา ความปลอดภัย และคุณภาพ โดยจะดำเนินการผ่านการพัฒนามาตรฐานกลางในด้านขนาด ระบบไฟฟ้า การเชื่อมต่อ และการสื่อสาร เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยสู่มาตรฐานสากล

นายศุภชัย กล่าวว่า รัฐบาลไทยโดยท่านนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้มีนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น EV Hub ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เเละมีมาตรการส่งเสริม EV มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ และ Supply Chain ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศ โดยทางรัฐบาลและกระทรวง อว. เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้ประกาศนโยบาย "อว. for EV" โดยมีเเนวทางการดำเนินการใน 3 เสาหลัก คือ

  1. EV-HRD พัฒนาบุคลากรด้าน EV
  2. EV-Transformation เปลี่ยนผ่านหน่วยงานใน อว. ให้นำร่องใช้รถ EV แทนรถยนต์สันดาปภายใน (ICE)
  3. EV-Innovation ผลักดันการวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของอุตสาหกรรม EV ในประเทศ

โดยนายศุภชัยได้แสดงความยินดีกับการเปิดตัว “ภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก” ที่ได้เริ่มต้นมาจากการดำเนินการโครงการนำร่องร่วมกันของหน่วยงานในกระทรวง อว. คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัทเอกชนชั้นนำ ได้แก่ บริษัท เบต้า เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด บริษัท จีพี มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ไอ-มอเตอร์แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด บริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ยูเนี่ยนนิฟโก้ จำกัด จนนำมาสู่การขยายผลเป็นภาคีเครือข่ายระดับประเทศ และได้แสดงความเชื่อมั่นว่าจากความร่วมมือดังกล่าว จะผลักดันให้ประเทศ ก้าวไปสู่ความยั่งยืนทางด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนคนไทย

ขณะที่ ดร.พิมพา กล่าวว่า จากผลงานและการตอบรับจากผลลัพธ์ของโครงการได้จุดประกายเล็กๆ ให้เกิดการขยายผลในระดับภาคีเครือข่ายที่กว้างขวางขึ้นในนาม “ภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก” มีเป้าหมายหลักในการลดข้อจำกัดของการใช้งานแบตเตอรี่ในประเทศไทย ครอบคลุมประเด็นด้านราคา ความปลอดภัย และคุณภาพ ผ่านการพัฒนามาตรฐานกลางในด้านขนาด ระบบไฟฟ้า การเชื่อมต่อ และการสื่อสาร ให้เกิดตลาดและการพึ่งพาในประเทศภายในระยะเวลา 3 ปี เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยสู่มาตรฐานสากล และมุ่งหวังว่าภาคีที่ก่อตั้งขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนนี้ จะเกิดการขยายผล เกิดความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชน ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตและให้บริการยานยนต์สมัยใหม่ที่มีมาตรฐาน เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรม และสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทยต่อไป

ที่มา: กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม