การทดสอบแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า UN R136 Part 2

การทดสอบแบตเตอรี่ตามมาตรฐาน มอก. 2952-2561 เทียบเท่า UNECE Regulation 136 (R136) มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจในความสมบูรณ์และการทำงานที่ปลอดภัยของระบบแบตเตอรี่ ที่ใช้ในรถขนาดเล็ก เช่น จักรยานยนต์ไฟฟ้า รถสามล้อ ภายใต้สภาพการใช้งานเสมือนจริง เพื่อมอบความปลอดภัยให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะและผู้โดยสาร” ประกอบด้วยการทดสอบ 9 รายการ ได้แก่

1. การตกกระแทก (Drop test) – เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพความปลอดภัยของแบตเตอรี่ แบตเตอรี่ให้ถูกปล่อยตกกระแทกพื้นอย่างอิสระ ในทิศทางที่แตกต่างกัน ของแต่ละด้านของแบตเตอรี่ รวม 6 ทิศทาง จากระดับความสูง 1 เมตร และตรวจสอบว่าไม่มีความเสียหายที่ทำให้การรั่วไหลของอิเล็กโทรไลต์ของแบตเตอรี่ หรือเกิดเพลิงไหม้

2. การป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรภายนอก (External short circuit protection) – เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรของแบตเตอรี่ แบตเตอรี่จะถูกจำลองการลัดวงจรจนกว่าจะสามารถยืนยันการทำงานของระบบการป้องกันการลัดวงจร ว่าสามารถป้องกันการลัดวงจรได้หรือไม่

3. การป้องกันการชาร์จเกิน (Overcharge protection) – เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบการป้องกันการชาร์จเกิน แบตเตอรี่ที่ถูกทดสอบจะถูกชาร์จจนกระทั่งแบตเตอรี่จะถูกตัดการชาร์จโดยอัตโนมัติหรือแบตเตอรี่นั้นจะถูกชาร์จ เป็นสองเท่าของความจุสูงสุด

4. การป้องกันการดิสชาร์จเกิน (Over-discharge protection) – เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบป้องกันการดิสชาร์จเกินของแบตเตอรี่ ในระหว่างการทดสอบ แบตเตอรี่จะถูกคายประจุจนกว่าจะถูกตัดการคายประจุหรือเมื่อแบตเตอรี่ถูกคายประจุถึง 25% ของระดับแรงดันไฟฟ้าปกติ (Nominal voltage)

5. การป้องกันอุณหภูมิเกิน (Over temperature protection) – เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบป้องกันของแบตเตอรี่จากความร้อนที่สูงเกินไป เมื่อทดสอบ แบตเตอรี่จะถูกชาร์จและดิสชาร์จออกมาซ้ำ ๆ เพื่อเพิ่มอุณหภูมิ โดยแบตเตอรี่จะถูกวางในเตาอบพาความร้อนหรือห้องควบคุมภูมิอากาศ อุณหภูมิของเตาอบหรือห้องจะค่อยๆเพิ่มขึ้นถึงระดับที่กำหนดไว้ การทดสอบเป็นการดูความสามารถของระบบป้องกันของแบตเตอรี่ที่หลังจากการทดสอบสามารถยับยั้งหรือจำกัดการชาร์จและดิสชาร์จ เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิของแบตเตอรี่เพิ่มขึ้น จนทำให้แบตเตอรี่เสียหายได้

6. การกระแทก (Mechanical shock) – เป็นการจำลองทดสอบเสมือน รถเกิดอุบัติเหตุจากการชน เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพความปลอดภัยของแบตเตอรี่ภายใต้แรงที่กระทำกับแบตเตอรี่ แบตเตอรี่ที่ถูกทดสอบจะถูกทดสอบการกระแทกตามความเร่งที่ระบุตามมาตรฐาน หลังจากการทดสอบ ต้องไม่มีการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้า ไม่เกิดเพลิงไหม้ และไม่มีการรั่วไหลของอิเล็กโทรไลต์ ของแบตเตอรี่

7. การทนอุญหภูมิ (Thermal shock) – เพื่อตรวจสอบความต้านทานของแบตเตอรี่ต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างกะทันหัน แบตเตอรี่ที่ทดสอบจะถูกทดสอบในห้องควบคุมอุณหภูมิ ที่อุณหภูมิ 60 ° C อย่างน้อย 6 ชั่วโมง หลังจากนั้นห้องควบคุมจะปรับอุณหภูมิจาก 60 ° C ลดลงถึง -40 ° C ภายใน เวลา 30 นาที และคงอุณหภูมิไว้อีก 6 ชั่วโมง ระบบจะปรับอุณหภมิ ซ้ำๆเป็นวัฏจักร จนครบห้าครั้งโดยมีช่วงเวลาพักระหว่างอุณหภูมิร้อนหรือเย็นสุดไม่เกิน 30 นาที หลังจากครบ จะคงอุณหภูมิ 25 °C ไว้อีก 1ชั่วโมง แบตเตอรี่ ต้องไม่มีการรั่วไหลของไฟฟ้า ไม่เกิดเพลิงไหม้ และไม่มีการรั่วไหลของอิเล็กโทรไลต์ขณะทดสอบ

8. การทนไฟ (Fire resistance) – เป็นการทดสอบเพื่อตรวจสอบความต้านทานของแบตเตอรี่ต่อไฟที่เกิดขึ้นนอกยานพาหนะเพื่อให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารมีเวลาหลบหนีที่เพียงพอ แบตเตอรี่ที่ถูกทดสอบจะต้องสัมผัสกับเปลวไฟที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงโดยตรง เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 60 วินาที และเปลวไฟที่มีวัตถุบัง ไม่น้อยกว่า 70 วินาที

9. การสั่นสะเทือน (Vibration) – เป็นการทดสอบเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพความปลอดภัยของแบตเตอรี่ภายใต้เงื่อนไขการสั่นสะเทือน แบตเตอรี่ที่อยู่ภายใต้การทดสอบจะมีการสั่นสะเทือนเป็นระยะเวลาการทดสอบทั้งหมดสามชั่วโมง โดยจำลองเสมือนรถวิ่งบนถนน ที่มีผิวถนนที่แตกต่างกัน และทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของแบตเตอรี่ หลังจากทดสอบแบตเตอรี่ ต้องไม่มีการรั่วไหลของไฟฟ้า ไม่เกิดเพลิงไหม้ และไม่มีการรั่วไหลของอิเล็กโทรไลต์

หมายเหตุ 
- Part 1 หมายถึง การทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยจากรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า “ทั้งคัน”
- Part 2 หมายถึง การทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยเฉพาะ “แบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า”

ขอรับคำปรึกษา หรือ สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการทดสอบแบตเตอรี่ได้ที่
ศูนย์ทดสอบ สถาบันยานยนต์
โทรศัพท์: 02-324-0710 ต่อ 134,135
อีเมล: tsa@thaiauto.or.th