การทดสอบแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. 3026-2563 เทียบเท่า มาตรฐานสากล UN R100 Part 2 จะต้องทดสอบ 9 รายการ ดังนี้
1. ความแข็งแกร่งของโครงสร้าง (Mechanical Integrity)
แบตเตอรี่ที่ถูกทดสอบจะถูกบดอัดระหว่างแผ่นต้าน และแผ่นบดที่มีแรงอย่างน้อย 100 kN
2. การป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรภายนอก (External short circuit protection)
เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรของแบตเตอรี่ แบตเตอรี่จะถูกลัดวงจรจนกว่าจะสามารถยืนยันการทำงานของระบบการป้องกันการลัดวงจร
3. การป้องกันการชาร์จเกิน (Overcharge protection)
เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบการป้องกันการชาร์จเกิน เมื่อทำการทดสอบแบตเตอรี่ที่ถูกทดสอบจะถูกชาร์จจนกระทั่งแบตเตอรี่จะถูกตัดการชาร์จโดยอัตโนมัติหรือจนกว่าแบตเตอรี่นั้นจะชาร์จสองเท่าของความจุสูงสุด
4. การป้องกันการดิสชาร์จเกิน (Over-discharge protection)
เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบป้องกันการดิสชาร์จเกินของแบตเตอรี่ ในระหว่างการทดสอบ แบตเตอรี่จะถูกคายประจุจนกว่าจะถูกตัดการคายประจุหรือเมื่อแบตเตอรี่ถูกคายประจุถึง 25% ของระดับแรงดันไฟฟ้านอมินอล (Nominal voltage)
5. การป้องกันอุณหภูมิเกิน (Over temperature protection)
เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบป้องกันของแบตเตอรี่จากความร้อนที่สูงเกินไป เมื่อทำการทดสอบ แบตเตอรี่จะถูกชาร์จและดิสชาร์จออกมาซ้ำ ๆ เพื่อเพิ่มอุณหภูมิ แบตเตอรี่จะถูกวางในเตาอบพาความร้อนหรือห้องควบคุมภูมิอากาศ อุณหภูมิของเตาอบหรือห้องจะค่อยๆเพิ่มขึ้นถึงระดับที่กำหนดไว้ การทดสอบสรุปได้เมื่อแบตเตอรี่ที่ผ่านการทดสอบยับยั้งหรือจำกัดการชาร์จและดิสชาร์จเพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น
6. การทนอุญหภูมิ (Thermal shock)
เพื่อตรวจสอบความต้านทานของแบตเตอรี่ต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างกะทันหัน แบตเตอรี่ที่ทดสอบจะถูกเก็บไว้ที่ประมาณ 60° C อย่างน้อย 6 ชั่วโมง ตามด้วยการจัดเก็บที่ประมาณ -40° C อีก 6 ชั่วโมง ซ้ำห้าครั้งโดยมีช่วงเวลาพักระหว่างอุณหภูมิร้อนหรือเย็นสุดไม่เกิน 30 นาที
7. การกระแทก (Mechanical shock)
เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพความปลอดภัยของแบตเตอรี่ภายใต้แรงเฉื่อยที่อาจเกิดขึ้นในสภาพการชนของยานพาหนะ แบตเตอรี่ที่ถูกทดสอบจะถูกเร่งความเร็วหรือชะลอตัวตามความเร่งที่ระบุ
8. การทนไฟ (Fire resistance)
ทดสอบเพื่อตรวจสอบความต้านทานของแบตเตอรี่ต่อไฟที่เกิดขึ้นนอกยานพาหนะเพื่อให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารมีเวลาหลบหนีที่เพียงพอ แบตเตอรี่ที่ถูกทดสอบจะต้องสัมผัสกับเปลวไฟที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง
9. การสั่นสะเทือน (Vibration)
เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพความปลอดภัยของแบตเตอรี่ ภายใต้เงื่อนไขการสั่นสะเทือน แบตเตอรี่ที่อยู่ภายใต้การทดสอบจะมีการสั่นสะเทือนรูปคลื่นไซน์ระหว่าง 7 Hz และ 50 Hz และกลับไปที่ 7 Hz ในช่วง 15 นาที โดยทำซ้ำ 12 ครั้งเป็นระยะเวลาการทดสอบทั้งหมดสามชั่วโมง
หมายเหตุ
- Part 1 หมายถึง การทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยจากรถยนต์ไฟฟ้า “ทั้งคัน”
- Part 2 หมายถึง การทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยเฉพาะ “แบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า”
ขอรับคำปรึกษา หรือ สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการทดสอบแบตเตอรี่ได้ที่
ศูนย์ทดสอบ สถาบันยานยนต์
โทรศัพท์: 02-324-0710 ต่อ 134,135
อีเมล: tsa@thaiauto.or.th