“เอกนัฏ” เปิดงานยิ่งใหญ่ “Thailand Industrial Conference 2024” ระดมหัวกะทิ 9 กลุ่มอุตสาหกรรม ร่วมอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ ขับเคลื่อนนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ที่ยั่งยืน”
นายเอกนัฏ พร้อมพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดงานสัมมนา Thailand Industrial Conference 2024 และกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ FIND Industrial Vision 2025 : ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน
(20 พฤศจิกายน 2567) การจัดงานมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอศักยภาพของสถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ และระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อ การปฏิรูปอุตสาหกรรมของประเทศสู่ความยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ใน 9 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเหล็กและโลหการ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมพลาสติกและปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมชีวภาพ
และมีการสัมมนาทางวิชาการ 17 หัวข้อ อาทิ การยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตไทยอย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ความสำคัญของอาเซียน : โอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการไทย วิวัฒนาการอุปกรณ์ส่งเส้นด้ายของเครื่องทอผ้าและถักผ้ายุคใหม่ ทิศทางและโอกาสของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเหล็กไทย และ Sustainable Industries: หมุนเวียนเปลี่ยนโลก Circular Economy for the Day นอกจากนี้ยังมีการออกบูธแสดงผลงานของสถาบันเครือข่ายและผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ และการให้คำแนะนำปรึกษาด้านเทคโนโลยี และ Business Matching คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 3,000 คน โดยกำหนดจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 20 - 22 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและประชุมไบเทค
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงผู้นำของสหรัฐอเมริกา การแบ่งขั้วทางการเมืองและเศรษฐกิจ การตั้งกำแพงภาษี รวมทั้งปัจจัยภายในประเทศจากโครงสร้างอุตสาหกรรมเดิมที่แข่งขันได้ยากขึ้นและไม่ดึงดูดการลงทุนใหม่ การพึ่งพาเทคโนโลยีและสินค้านำเข้า การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติและทักษะแรงงานระดับสูง การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ปัญหาหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น และภาพลักษณ์เชิงลบเกี่ยวกับการประกอบการที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นความท้าทายสำคัญที่ประเทศไทยต้องปรับตัว โดยการขับเคลื่อนเชิงรุกให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วนและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยก้าวข้ามข้อจำกัด และสามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล
กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจในการพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตระหนักถึงความสำคัญที่จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมไทยควบคู่กับการปรับตัวให้เข้ากับวิถีใหม่ของโลก จึงกำหนดนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ผ่าน “3 ปฏิรูป (สู้ เซฟ สร้าง) ประกอบด้วย
ปฏิรูป 1 : จัดการกาก สารพิษ ที่ทำร้ายชีวิตประชาชน ต่อสู้กับปัญหากากและสารพิผ่านการปรับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ อาทิ แก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน กำหนดอัตราเปรียบเทียบปรับให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง จัดการกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมเข้าประกอบการในเขตนิคมอุตสาหกรรม และใช้ระบบดิจิทัลในการกำกับติดตามกากอุตสาหกรรม
ทั้งระบบ ตลอดจนการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากการเผาอ้อยในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนและปรับเปลี่ยนสู่ความยั่งยืน
ปฏิรูป 2 : สร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ
SME ไทย เดินหน้า Save (เซฟ) SME ไทยเป็นการเร่งด่วน ทั้งมาตรการเชิงรับปกป้องการลงทุนของของบริษัทข้ามชาติและการนำเข้าของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ ที่มาตรการ กฎระเบียบ และสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องยังไม่ครอบคลุมและสร้างการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน ควบคู่กับมาตรการเชิงรุก มุ่งยกระดับขีดความสามารถให้แข่งขันได้และทันกับเศรษฐกิจยุคใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยกลไกการส่งเสริมของกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานพันธมิตร การริเริ่มนิคมอุตสาหกรรม SME สร้างซัพพลายเชน ปฏิรูปอุตสาหกรรม รวมทั้งผลักดันมาตรการ “Made in Thailand” และ “SME GP” ประกอบกับดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเป็น SME War room ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้ขับเคลื่อนกระบวนการยกระดับขีดความสามารถ แก้ไขปัญหา และสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันให้กับ SME ของไทยทั้งระบบ
ปฏิรูป 3 : สร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ มุ่งเป้าพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพหรือมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (เซมิคอนดักเตอร์ Data Center และ HDD) อุตสาหกรรมการแปรรูปเกษตรมูลค่าสูงอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ด้วยการชะลอผลกระทบรักษาเงื่อนไขเพื่อการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม ปรับสิทธิประโยชน์เป็นแบบ Whole Package เติม “เงื่อนไขการลงทุน” ที่ตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย เพื่อสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของธุรกิจของไทยกับบริษัทข้ามชาติ และเพิ่มสัดส่วนการผลิตภายในประเทศ หรือ Local Content เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและวางรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศสู่อนาคต
“การปฏิรูปอุตสาหกรรมเป็นนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและภาคอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านความร่วมมือจากอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ ยกระดับขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทยผ่านกลไกต่าง ๆ อาทิ การให้คำปรึกษาแนะนำ ฝึกอบรม งานวิจัยพัฒนา ตรวจสอบ ทดสอบ รับรอง การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการให้บริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่าน 8 สถาบันเครือข่ายที่มีเชี่ยวชาญเฉพาะทางในอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ สถาบันพลาสติก สถาบันอาหาร สถาบันยานยนต์ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย สถาบันไทย-เยอรมัน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล” รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย