สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ร่วมมือ สถาบันยานยนต์ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน กระชับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และระบบขนส่งและขับขี่อัจฉริยะ รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตของอนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง
วันที่ 9 ธันวาคม 2567 นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายชาลี ขันศิริ ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ นายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และสถาบันยานยนต์ เข้าพบหารือผู้ประกอบการ ณ เมืองเป่าติ้ง มณฑลเห่อเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน
ภายใต้การดำเนินความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม โครงการ “Capacity Building for Auto Parts Suppliers with Sustainable Development toward Transportation and Smart Mobility ADAS system, new energy vehicle, rail system, aircraft parts, electronic parts, vehicles for aging people“ (การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สู่อุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ระบบการขนส่งและเคลื่อนที่อัจฉริยะ ระบบขับขี่อัตโนมัติ (ADAS) ยานยนต์สมัยใหม่ ระบบราง ชิ้นส่วนอากาศยาน ชิ้นส่วนอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์สําหรับผู้สูงวัย) สนับสนุนโดยกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง สาธารณรัฐประชาชนจีน
🔹บริษัท Great Wall Motor Co., Ltd. (GWM) เป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเป่าติ้ง มณฑลเหอเป่ย โดยที่มาของชื่อบริษัทมาจากกำแพงเมืองจีน ก่อตั้งเมื่อปี 2527 ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตรถยนต์เอนกประสงค์สมรรถนะสูง (suv) รายใหญ่ที่สุดของจีน โดยผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถกระบะ ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าและไฮบริด ภายใต้ 5 แบรนด์ ได้แก่ 1.Haval-รถ suv 2.ORA-รถยนต์ไฟฟ้า 3.Tank-รถ offroad suv 4.Wey-รถ suv ระดับหรู 5.Poer-รถกระบะ โดยมีโรงงานผลิตเต็มรูปแบบหลายแห่งในจีน บราซิล รัสเซีย และไทย ณ จังหวัดระยอง โดยคณะได้หารือและเยี่ยมชมโรงงาน ดังนี้
- การหารือร่วมกับผู้บริหารบริษัทฯ ได้รับทราบนโยบายสำคัญ ได้แก่ นโยบายการพัฒนา 3 ใหม่ (3 New) คือ พลังงานใหม่ ระบบอัจฉริยะใหม่ และประสบการณ์การขับขี่ใหม่ รวมถึงนโยบายราคาเดียว (One Price) โดยบริษัทฯ ได้ลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทยเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียนและออสเตรเลีย รวมถึงได้ร่วมเสนอแนะนโยบายร่วมกับภาครัฐไทยในด้านการบริหารจัดการรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งาน และการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการออกแบบรถยนต์ให้มีความทันสมัยมากขึ้น
- การวิจัยและพัฒนา (R&D) สามารถจำลองการทดลองประสิทธิภาพของรถยนต์ในสภาพอากาศสุดขั้วตั้งแต่ -40 องศาจนถึง 60 องศาเซลเซียส ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการตั้งศูนย์ทดสอบในภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก รวมถึงการทดสอบในมิติด้านอื่น ๆ ได้แก่ การทำงานของแบตเตอร์รี่ เครื่องยนต์ ระบบไฟฟ้า การเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็ก การชน ระดับเสียง ความสั่นสะเทือน และความกระด้างของรถยนต์ (NVH) ตลอดจนการพัฒนารถพลังงานไฮโดรเจนทั้งแบบก๊าซและแบบเหลว นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกภายในรถยนต์ เช่น เบาะนวด ปรับตามสรีระ ระบบเครื่องเสียงและสารสนเทศ รวมถึงระบบช่วยขับขี่อัจฉริยะ เช่น การช่วยจอด และการออกนอกช่องจราจร
- การผลิตและทดลองขับ โดยการนั่งรถเยี่ยมชมโรงงานการผลิตชิ้นส่วนด้วยระบบหุ่นยนต์ที่มีความทันสมัยและแม่นยำ ไปจนถึงขั้นตอนการประกอบชิ้นส่วนจนสำเร็จเป็นรถยนต์ หลังจากนััน คณะได้นั่งรถทดลองขับในสนามทดสอบที่มีการออกแบบความโค้งและความลาดชันตามมาตรฐานด้วยความเร็วสูงที่กำหนด เพื่อทดสอบประสิทธิภาพระบบขับเคลื่อนและการยึดเกาะถนน
- การวิจัยและผลิตแบตเตอร์รี่ ภายใต้บริษัท SVOLT ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ซึ่งได้มีการวิจัยและพัฒนาแบตเตอร์รี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและไฮบริด โดยมีนวัตกรรมล่าสุดคือการจัดเก็บแผ่นนิกเกิล-แมงกานีส-โคบอลท์ แบบแท่งเรียงซ้อน (prismatic-stacking) ซึ่งสามารถเพิ่มความหนาแน่นของพลังงานและยืดอายุการใช้งานได้ดี รวมถึงขั้วแบตเตอร์รี่ลิเธียมแบบปราศจากโคบอลท์ กระบวนการผลิตโดยวิธี spray dry ผงโลหะ และการกัดแบบ jet milling
- การจัดแสดงสินค้า (Show Room) มีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ให้ลูกค้าสามารถทดลองนั่งและสัมผัสได้ รวมถึงการจัดแสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมต่าง ๆ ได้แก่ ความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และความทันสมัยของระบบภายในรถยนต์และจักรยานยนต์ขนาดใหญ่
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และ สถาบันยานยนต์