สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ร่วมมือ สถาบันยานยนต์ เยือนกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน กระชับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และระบบขนส่งและขับขี่อัจฉริยะ รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตของอนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง
นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายชาลี ขันศิริ ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ นายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์และภาคเอกชนจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
ภายใต้การดำเนินโครงการ “Capacity Building for Auto Parts Suppliers with Sustainable Development toward Transportation and Smart Mobility: ADAS system, new energy vehicle, rail system, aircraft parts, electronic parts, vehicles for aging people“ (การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สู่อุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ระบบการขนส่งและเคลื่อนที่อัจฉริยะ: ระบบขับขี่อัตโนมัติ (ADAS) ยานยนต์สมัยใหม่ ระบบราง ชิ้นส่วนอากาศยาน ชิ้นส่วนอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์สําหรับผู้สูงวัย) สนับสนุนโดยกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง สาธารณรัฐประชาชนจีน
🔹สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง
การหารือสถานะปัจจุบันของผู้ประกอบการในสาขาชิ้นส่วนยานยนต์ไทยและเวียดนามต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจีน โดยเห็นพ้องในโอกาสในการก้าวเดินไปด้วยกันในอนุภูมิภาค ด้วยศักยภาพของไทย เวียดนาม และจีน ซึ่งจีนจะมีจุดเด่นในด้านราคา การผลิต และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ขณะที่ไทยมีจุดเด่นในด้านบริการหลังการขาย รวมถึงมีสภาพแวดล้อมการลงทุนที่ดี สามารถเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นๆได้ ในลักษณะ Second Home Base โดยไทยมีโอกาสในการผลักดันการใช้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าและการร่วมทุน เพื่อส่งเสริมการผลิตในประเทศให้เกิดประโยชน์และองค์ความรู้ต่อผู้ประกอบการไทย เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์มีห่วงโซ่อุปทานที่ยาวกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อให้สามารถต่อยอดห่วงโซ่อุปทานในระดับ tier 2-3 ได้ในอนาคต
🔹ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมอุปกรณ์ (The Equipment Industry Development Center: EIDC)
เป็นหน่วยงานเครือข่ายภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน มีบทบาทหลักในการวางแผนและพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีในภาคการผลิตของจีนในสาขาอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า ครอบคลุมตั้งแต่การริเริ่มโครงการ การผลิต การตลาดและการส่งมอบ การใช้งานบนท้องถนน บริการหลังการขาย และการกำจัดซากรถหรือนำกลับมาใช้ใหม่ ร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านมาได้มีการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า คือ การให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคในช่วงเริ่มต้น นโยบายด้านภาษีในช่วงกลาง และนโยบาย Dual Credit ในช่วงเติบโต โดยการให้เครดิตผู้ผลิตรถยนต์พลังงานสะอาด และปรับคะแนนผู้ผลิตที่มีรถยนต์สิ้นเปลืองพลังงานสูงให้พัฒนาหรือต้องออกจากตลาด ทั้งนี้ ได้เห็นพ้องถึงโอกาสในการสร้างความร่วมมือภายในอนุภูมิภาค ได้แก่ การแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงด้านนโยบาย ส่งเสริมการสร้างมาตรฐานทางเทคนิคร่วมกัน การสร้างห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมร่วมกัน ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญ
🔹องค์กร China Automotive Enterprises Internationalization and Development Innovation Alliance
ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน มีภารกิจในการส่งเสริมการพัฒนาและความร่วมมือระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีน และสนับสนุนการพัฒนานโยบายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า โดยมุ่งเน้นไปที่ยานพาหนะอัจฉริยะและเชื่อมต่อกัน (Intelligent and Connected Vehicles: ICVs) ซึ่งประกอบด้วย 1) ความปลอดภัยทางถนน 2) ประสิทธิภาพทางการจราจร 3) ระบบขับขี่อัตโนมัติ และ 4) สาระบันเทิงภายในรถยนต์ ภายใต้วิสัยทัศน์คือ จีนจะบรรลุเป้าหมายในการสร้างพลังแห่งยานยนต์ เพื่อขับเคลื่อนการขับเคลื่อนของสังคมไปสู่ทิศทางแห่งความยั่งยืน และเพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้คนสำหรับชีวิตที่ดีขึัน
🔹กิจกรรมการสัมมนากลุ่มย่อย
(Workshop) ระหว่างผู้แทนไทยและเวียดนาม เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมอง โดยผู้แทนจากเวียดนามมีความเห็นว่าไทยมีศีกยภาพในการผลิตชิ้นส่วน hardware ขณะที่เวียดนามอยู่ระหว่างการพัฒนาด้าน software และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะ ขณะที่ฝ่ายไทยเห็นว่า ปัจจุบันไทยยังมีห่วงโซ่อุปทานในประเทศในสาขาชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าไม่มาก จึงเห็นพ้องถึงโอกาสในการสร้างความร่วมมือ องค์ความรู้ เทคโนโลยี ตลอดจนการร่วมทุนระหว่างกัน เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนสามารถเป็นฐานการผลิตร่วมกัน
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และ สถาบันยานยนต์