สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม  ร่วมมือ สถาบันยานยนต์ เยือนผู้ประกอบการ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน (วันที่ 2)

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม  ร่วมมือ สถาบันยานยนต์  เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน กระชับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และระบบขนส่งและขับขี่อัจฉริยะ รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตของอนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง

วันที่ 11 ธันวาคม 2567 นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายชาลี ขันศิริ ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ นายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และสถาบันยานยนต์ รวมถึงผู้แทนภาคเอกชนจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เข้าพบภาคเอกชน ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

ภายใต้การดำเนินโครงการ “Capacity Building for Auto Parts Suppliers with Sustainable Development toward Transportation and Smart Mobility: ADAS system, new energy vehicle, rail system, aircraft parts, electronic parts, vehicles for aging people“ (การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สู่อุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ระบบการขนส่งและเคลื่อนที่อัจฉริยะ: ระบบขับขี่อัตโนมัติ (ADAS) ยานยนต์สมัยใหม่ ระบบราง ชิ้นส่วนอากาศยาน ชิ้นส่วนอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์สําหรับผู้สูงวัย) สนับสนุนโดยกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง สาธารณรัฐประชาชนจีน

🔹บริษัท Beiqi Foton Motor Co., Ltd. ปัจจุบันเป็นผู้ออกแบบและผลิตรถบรรทุก รถประจำทาง ยานพาหนะเอนกประสงค์ที่มีสัดส่วนการผลิตและจำหน่ายสูงที่สุดในจีน มีสำนักงานใหญ่ในเมืองฉางผิง ย่านกรุงปักกิ่ง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2539 โดยผลิตทั้งรถบรรทุกเบาและหนัก รถกระบะ รถตู้ รถเพื่อการเกษตร และรถเครน มีการส่งออกไปยัง 130 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยได้ร่วมทุนกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในนามบริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด เมื่อวันที่ 25 เมษายน ปี 2562 ปัจจุบันมีศูนย์บริการรวม 21 แห่งทั่วประเทศ โดยคณะได้หารือและเข้าชมห้องทดสอบ ดังนี้

  1. ผลการหารือ - บริษัทฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบขับเคลื่อนในรถบรรทุกด้วยไฟฟ้า ไฮบริด และไฮโดรเจนเหลว รวมทั้งระบบช่วยขับขี่อัจฉริยะ (ADAS) ได้แก่ การเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ การควบคุมรถให้อยู่ในช่องจราจรและเตือนเมื่อออกนอกช่องจราจร การควบคุมความเร็วที่สามารถปรับความเร็วตามรถคันหน้า และการปรับระดับเสียงภายในห้องโดยสารตามความเร็วรถ ภายใต้นโยบายสำคัญ All in One Green Solution Ecosystem ที่มุ่งเน้นการให้บริการอบด้าน ตั้งแต่การจำหน่าย การรับประกัน การซ่อมบำรุงและชิ้นส่วน สินเชื่อ ประกันภัย การทำลายรถเก่า และการรีไซเคิลแบตเตอร์รี่ ทั้งนี้ บริษัทฯ มีข้อเสนอแนะต่อฝ่ายไทยในประเด็นการใช้มาตรฐานความปลอดภัยทางถนนสำหรับรถเพื่อการพาณิชย์ภายในประเทศของจีน (CCC) ควบคู่กับการใช้มาตรฐานของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจสำหรับยุโรป (ECE) ในประเทศไทย การสนับสนุนด้านนโยบายจากภาครัฐ การกำหนดช่วงเวลาของน้ำหนักรถบรรทุก เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายการลงทุนและขยายผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย

  2. การเข้าชมห้องทดสอบ (Testing Lab) ประกอบด้วย
    1. การทดสอบความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้าของยานยนต์ (EMC) เพื่อตรวจสอบว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ติดตั้งในยานพาหนะไม่เสี่ยงต่อการรบกวนจากภายนอกและไม่ปล่อยพลังงานในระดับที่เป็นอันตราย
    2. การทดสอบเสียงแบบ Pass-by เพื่อวัดเสียงรบกวนจากยานพาหนะ
    3. การทดสอบความแข็งแรงคงทนของตัวรถ 
    4. การทดสอบความทนทานต่อการกัดกร่อนของโลหะด้วยเครื่องทดสอบไอเกลือ (Salt Spray Test)

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และ สถาบันยานยนต์