สถาบันยานยนต์ ไม่หยุดพัฒนา...ขยายความสามารถการทดสอบ พร้อมเป็นองค์กรกำหนดมาตรฐานขั้นสูง เพื่อยานยนต์แห่งอนาคต

สถาบันยานยนต์หน่วยงานให้บริการด้านทดสอบมาตรฐานทั่วไป มาตรฐานบังคับ และมาตรฐานสากล สำหรับยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ขยายความสามารถการให้บริการเพิ่มขึ้น โดยได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบ มอก. 17025-2561 และได้รับการจดทะเบียนเป็น องค์กรกำหนดมาตรฐานประเภทขั้นสูง จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อยานยนต์แห่งอนาคต


นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติมอบใบรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบ มอก. 17025-2561 (Standard No. TIS 17025-2561 (2018) ISO/IEC 17025: 2017) ข้อกำหนดทั่วไปว่าด้วย ความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบและห้องปฏิบัติการทดสอบเทียบ ออกให้เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 และใบจดทะเบียนองค์กรกำหนดมาตรฐาน ประเภทขั้นสูง เพิ่มเติม 6 สาขา ออกให้ ณ วันที่ 30 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา


ดร. เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า “การที่ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ดำเนินงานโดยสถาบันยานยนต์ ได้รับใบรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบ มอก. 17025 ใน 3 สาขา" 

สาขายานยนต์ 

  1. มาตรฐานมลพิษทางเสียงที่เกิดจากรถจักรยานยนต์ และ ยานยนต์ตั้งแต่ 4 ล้อขึ้นไป (UN R 41, UN R 51)  
  2. มาตรฐานการยึดเกาะถนนบนพื้นเปียก และเสียงจากยางล้อ (UN R 117)  
  3. มาตรฐานระบบห้ามล้อสำหรับรถจักรยานยนต์ รถยนต์ และรถบรรทุก (UN R 78, UN R 13H และ UN R 13)

สาขาชิ้นส่วนยานยนต์

  1. มาตารฐานยางล้อ (UN R 117)
  2. มาตรฐานเข็มขัดนิรภัยสำหรับรถยนต์ (UN R 14, UN R 16)
  3. มาตรฐานที่นั่งยานยนต์ (UN R 17, UN R 25)

สาขาระบบและชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า

  1. มาตรฐานแบตเตอรี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ (UN R 100, UN R 136)

 

ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ที่ห้องปฏิบัติการได้พัฒนาเพิ่มเติมความสามารถและปรับปรุงกระบวนการ เพื่อให้สอดรับกับมาตรฐานใหม่ที่ประกาศใช้ในการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025: 2017 มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการให้เป็นที่ยอมรับทั้งภายในประเทศและต่างประเทศทำให้เกิดความมั่นใจในเรื่องของคุณภาพและความน่าเชื่อถือของการรายงานผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการจากสถาบันยานยนต์ และศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ พร้อมกันนี้สถาบันยานยนต์ยังได้รับ 

"การจดทะเบียนเป็น องค์กรกำหนดมาตรฐาน (Standard Developing Organization, SDOs) ประเภทขั้นสูง เพิ่มเติม จำนวน 6 สาขา" 

  1. สาขาที่ 44 ระบบขับเคลื่อน ขับหมุนและเบรกยานยนต์
  2. สาขาที่ 45 ระบบไฟฟ้า แสง และสัญญาณแสงยานยนต์
  3. สาขาที่ 46 ความปลอดภัยยานยนต์  
  4. สาขาที่ 47 มลพิษ เสียง และพลังงานยานยนต์
  5. สาขาที่ 76 แบตเตอรี่
  6. สาขาที่ 81 ยานพาหนะไฟฟ้า

 

สถาบันยานยนต์ จึงเป็นหน่วยงานที่มีความสามารถในการ จัดทำมาตรฐานให้เป็นไปตามหลักสากล

เสนอร่างกำหนดเป็นมาตฐานของชาติ เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้ปลายทางได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ

ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยตรงตามวัตถุประสงค์การคุ้มครองผู้บริโภค โดยการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

 

 

ศูนย์ทดสอบยานยนต์ สถาบันยานยนต์ และศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ เรียกได้ว่าเป็นศูนย์ทดสอบยานยนต์ที่มีศักยภาพ

และครบวงจรที่สุดในอาเซียน มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยบุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านการทดสอบพร้อมทำหน้าที่

เพื่อรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้เป็นไปตามที่กำหนด และการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์สู่อนาคต

พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต อันดับ 1 ในอาเซียนอย่างเข้มแข็ง