สทร. ผนึกกำลัง สยย. เพิ่มศักยภาพระบบรางเดินหน้าเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทย

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์กรมหาชน) และ ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ประสานความร่วมมือจัดทำ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ พร้อมด้วยนายพิศิษฐ์ แสง-ชูโต กรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์กรมหาชน) / กรรมการสถาบันยานยนต์ และนายตรีพล บุณยะมาน รองผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เป็นพยานลงนาม เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2568 ณ ห้องประชุม M1 สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง อาคารการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรุงเทพ 

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วง ของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางรางครั้งใหญ่ในรอบหลาย ทศวรรษไม่ว่าจะเป็นเป็นการขยายเส้นทางโครงข่ายและ การเพิ่มเส้นทางรางคู่ขนาด 1 เมตร การพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงและการพัฒนาระบบไฟฟ้ารางเบาในจังหวัดหัวเมือง โดยโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะกลายเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในอนาคต

จึงก่อให้เกิดบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์กรมหาชน) กับ สถาบันยานยนต์ ฉบับนี้ขึ้น เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่างทั้งสองหน่วยงานในการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทย 

โดยมีวัตถุประสงค์หลักร่วมกันดังนี้
1. สร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบรางเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ภายในประเทศ
2. ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาระหว่างสองหน่วยงาน โดยเฉพาะกรอบและวิธีการ ทำงานเครื่องมือที่ใช้สนับสนุนพัฒนาเทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ
3. พัฒนาศักยภาพและทักษะของบุคลากรจากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง
4. จัดทำมาตรฐานและการตรวจสอบรับรองชิ้นส่วนอุปกรณ์และระบบที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการขับเคลื่อน
5. ประเมินศักยภาพและพัฒนาผู้ประกอบการให้เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการผลิตรถรถไฟในประเทศไทย

ดร. เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่สำคัญ “การส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตรถไฟภายในประเทศ นอกจากจะส่งผลดีต่อการคมนาคมขนส่งแล้ว ยังมีผลต่ออุตสาหกรรมเดิมในประเทศ เนื่องจากในปัจจุบัน อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยนั้น กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีการผลิตยานยนต์จากการใช้รถเครื่องยนต์สันดาปภายใน เป็นการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ที่กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ต้องรับมือกับการดิสรัปชั่นที่เกิดขึ้น สู่การปรับตัวของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยเพื่อรองรับการเติบโตของการขนส่งทางรางของประเทศ

ดังนั้น การมีทางเลือกอื่นจะทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ ด้วยความพร้อมและความสามารถในการผลิต เมื่อเชื่อมโยงเข้ากับกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย จะสามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจ ทำให้ยังคงสถานะธุรกิจและการจ้างงานในประเทศ  และยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศมีศักยภาพผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนรถไฟไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้น การส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตระบบรางในประเทศ จึงก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจในหลายมิติอีกด้วย“ 

ครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสที่ดี ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์กรมหาชน) กับ สถาบันยานยนต์ จะเข้ามาพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมระบบราง โดยมีกระทรวงอุตสาหกรรม  พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตร นักวิชาการ จากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันสนับสนุนต่อไป